วิธีการดูแลบาดแผลช่วงน้ำท่วม

Share:

          เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม สิ่งที่มักจะมากับน้ำก็คือ เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ชนิดต่างๆที่สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้แล้วถ้าร่างกายของเรามีบาดแผล หรือ เกิดอุบัติเหตุจนเกิดบาดแผลแล้วนั้น ยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ วันนี้ Young @Heart Show จะพามาทำความรู้จักกับชนิดและวิธีดูแลบาดแผลในช่วงน้ำท่วมกันค่ะ

ที่มา : pexels.com

          มาเริ่มกันที่ แผลข่วน แผลถลอก หรือแผลแยกของผิวหนังที่ไม่ลึก แผลประเภทนี้จะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย และหยุดเองได้ แผลพวกนี้ไม่ค่อยมีอันตราย ให้ทำความสะอาดแผลโดยใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และปิดปากแผล แผลก็จะหายเอง

ที่มา : pexels.com

          แผลอีกประเภทคือ แผลฉีกขาด เป็นแผลที่เกิดจากแรงกระแทก หากเป็นวัสดุที่ไม่มีคม แผลมักฉีกขาดขอบรุ่งริ่ง แผลชนิดนี้เนื้อเยื่อถูกทำลายและมีโอกาสติดเชื้อมาก ควรทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาด ถ้าบาดแผลลึกมากควรนำส่งโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโรคได้

ที่มา : pexels.com

          นอกจากนี้ยังต้องระวังในเรื่องของโรคบาดทะยัก เพราะสาเหตุของบาดทะยักเกิดจากสารพิษที่พบในสปอร์ของแบคทีเรียที่เรียกว่า Clostridium tetani แบคทีเรียเหล่านี้สามารถพบได้ในดิน ฝุ่น และมูลสัตว์ เมื่อสปอร์เหล่านี้เข้าไปในบาดแผลที่มีความลึก จะเติบโตกลายเป็นสารพิษที่ส่งผลทำให้เส้นประสาทเกิดการเสื่อม และยังส่งผลต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ก่อให้เกิดอาการตึงและการกระตุกได้ แต่โรคบาดทะยักไม่ใช่โรคติดต่อส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักหรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันทุกๆ 10 ปี และถ้าหากโดนตะปู สักกะสี เหล็กที่ขึ้นสนิมหรือวัสดุที่ไม่ค่อยสะอาดบาด ให้รีบพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

ที่มา : pexels.com

วิธีการทำความสะอาดบาดแผลในช่วงที่เกิดน้ำท่วมมีขั้นตอนดังนี้
1. ล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาด ซับแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
2. ใช้สำลีสะอาดชุบน้ำยาแอลกอฮอล์เช็ดรอบๆ แผลไม่ควรเช็ดลงบนแผล
3. ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีนลงบนแผลเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
4. ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ หรือผ้าพันแผลไม่ใช้สำลีปิดแผล เพราะเมื่อแผลแห้งสำลีจะติดกับแผลอาจทำให้เกิดเลือดออกได้อีกครั้งเมื่อนำสำลีออก
5. ทำความสะอาดแผลเป็นประจำทุกวัน
6. หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสกปรก หรือ เปียกน้ำ

          เมื่อเราดูแลทำความสะอาดแผลอย่างถูกต้องตามวิธีข้างต้นแล้วก็จะช่วยลดการติดเชื้อที่แผลได้ และที่สำคัญคือ หมั่นสังเกตอาการอักเสบของแผลเช่น บวม แดง ร้อน สีผิวของแผลเปลี่ยนไป หากมีหนองควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษาต่อตามความรุนแรงของแผลค่ะ

ที่มาข้อมูล : สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข

Young@Heart Show