Overtraining Syndrome ออกกำลังกายหนักจนร่างพัง กับ นพ.ฐชิภัทร เสรีอรุโณ โรงพยาบาลเวชธานี

Share:

          เคยสังเกตกันไหมคะว่าทำไมยิ่งเราออกกำลังกายเรากลับดูไม่สดใส หน้าตาดูโทรมไม่สดชื่น หรือบางคนดูแก่ก่อนวัย อาการแบบนี้อาจกำลังเข้าข่าย ภาวะ Overtraining Syndrome อยู่ก็ได้นะคะ และวันนี้ นายแพทย์ ฐชิภัทร เสรีอรุโณ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู จากโรงพยาบาลเวชธานีจะพาเรามาทำความเข้าใจกับภาวะนี้กันค่ะ

ที่มา : pixabay.com

          Overtraining Syndrome มักพบได้บ่อยในนักกีฬามืออาชีพ และนักกีฬาทั่วไป โดยเฉพาะนักวิ่งมาราธอน นักปั่น และนักไตรกีฬา เนื่องจากเสพติดการออกกำลังกายที่มีความหนักเกินกว่าร่างกายจะรับไหว ออกกำลังกายถี่มากเกินไปจนไม่มีวันพักหรือมีวันพักจากการออกกำลังกายที่น้อยเกิดไป นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารน้อย โภชนาการและสารอาหารในร่างกายไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงาน ทำให้เกิดอาการ เหนื่อยง่ายผิดปกติ ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายไม่ดีอย่างที่เคย ปวดกล้ามเนื้อมากจนต้องกินยาแก้ปวด

ที่มา : pixabay.com

          นอกจากส่งผลเสียให้กับประสิทธิภาพในการซ้อมกีฬาแล้ว Overtraining Syndrome ยังส่งผลเสียกับร่างกายทำให้เกิดภาวะเครียดสะสม ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาเป็นจำนวนมาก และยังส่งผลให้ฮอร์โมนเพศมีปัญหาทำให้เหนื่อยง่าย ง่วงบ่อย ขี้หงุดหงิด กินจุ คุมน้ำหนักไม่อยู่ นอนไม่หลับ ผิวหนังเหี่ยวหมองคล้ำ ดูแก่ก่อนวัย กล้ามเนื้อและกระดูกสลายตัวเร็วขึ้น และสุดท้ายร่ายกายก็จะเกิดภาวะต่อมหมวกไตล้า ตามมาได้

ที่มา : pixabay.com

          เมื่อร่างกายตกอยู่ในภาวะ Overtraining Syndrome ควรปฏิบัติดังนี้
1. ลดความหนักในการออกกำลังกาย
2. เพิ่มจำนวนวันพักในการออกกำลังกายให้มีมากขึ้น
3. จัดตารางการออกกำลังกายใหม่ให้มีความสมดุลและเหมาะสมกับขีดจำกัดของร่างกาย

ที่มา : pixabay.com

4. ปรับการรับประทานอาหารให้ร่างกายได้สารอาหารที่เพียงพอต่อการใช้พลังงาน
5. ปรับตารางการนอนหลับ และระยะเวลาการนอนหลับให้เพิ่มมากขึ้น
6. หากิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายคลายความเครียดจากการซ้อมกีฬา

ที่มา : pixabay.com

          เมื่อลองปรับพฤติกรรมการออกกำลังกาย การพักผ่อน และการรับประทานอาหารให้มีความสมดุลและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ภาวะ Overtraining Syndrome ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ก็จะค่อยๆดีขึ้น แต่หากพบความผิดปกติของร่างกายมากขึ้นกว่าเดิมควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง  สุดท้ายนี้ขอย้ำเตือนอีกครั้งว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีแต่ควรออกกำลังกายให้เหมาะสม หนักเกินไปก็อาจจะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ เบาเกินไปก็อาจจะไม่เกิดผล ดังนั้นสังเกตตัวเองทุกครั้งก่อนและหลังออกกำลังกายว่าร่างกายพร้อมมากน้อยเพียงใดนะคะ จะได้ฟิตแบบร่างไม่พัง

 

ติดตามเรื่องราวสุขภาพได้ใน Young @Heart Show

ตอน Overtraining Syndrome ออกกำลังกายหนักจนร่างพัง

Young@Heart Show