นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้สุทธิ 2.78 ล้านล้านบาท มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท
การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าว อยู่ภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในปี 2567 ที่คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะขยายตัวได้ 2.7-3.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.7-2.7% และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.5% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนด้านการคลัง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง
สำหรับงบประมาณรายจ่ายในแผนการพัฒนาประเทศนั้น รัฐบาลมุ่งมั่นจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านนโยบายที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยจะมีการดำเนินนโยบายเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น และนโยบายระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการเติบโตของประเทศ ดังนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ เช่น
* พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทั้ง Demand และ Supply
* ยกระดับการท่องเที่ยว พัฒนา Soft Power
* ลดค่าใช้จ่ายประชาชน ลดต้นทุนให้ภาคอุตสาหกรรม
2. ด้านสังคมและความมั่นคง เช่น
* ประชาชนสุขภาพดี อัพเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค
* ดูแลรักษาผู้ติดยาเสพติด
* สร้างความเสมอภาคทางสังคม
* กองทัพจะทันสมัย
3. ด้านการเมืองการปกครอง
* จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่สร้างความขัดแย้ง
* เดินหน้า E-Government
* สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีฯ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าไม่มีความกังวลอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาได้ประชุมกับ สส. ในพรรคเพื่อไทยเกือบ 50 คน โดยจะพยายามตอบทุกคำถาม อีกทั้งรัฐมนตรีจากทุกพรรคการเมืองพร้อมจะชี้แจงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ไม่ได้คาดการณ์ว่ากระทรวงใดจะถูกฝ่ายค้านอภิปรายเพ่งเล็งเป็นหลัก แต่เชื่อว่าทุกกระทรวง และทุกรัฐมนตรีเตรียมตัวมาดีแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้จัดทำงบประมาณด้วยความละเอียดรอบคอบร่วมกับสำนักงบประมาณ
ส่วนที่ฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์ว่างบประมาณของรัฐบาลไม่ตรงปกนั้น นายกรัฐมนตรี ขอโอกาสให้ฟังการชี้แจงก่อน หากฝ่ายค้านพาดพิง ก็ต้องดูเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงใด อาจให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงตามความเหมาะสม
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะอยู่รับฟังการอภิปรายงบประมาณตลอดทั้ง 3 วัน (3-5 ม.ค.)