กรมศุลกากร จีนแผ่นดินใหญ่ (GAC) เปิดเผยว่า สรุปภาวะการส่งออกของประเทศจีนในปี 2023 ลดลง -4.6% ส่งผลให้กลายเป็นการส่งออกรายปีของจีนที่ตกต่ำครั้งแรกในรอบ 7 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ซึ่งในปีดังกล่าวนั้น การส่งออกจีนทรุดอย่างรุนแรงมากถึง -7.7% สอดรับกับการนำเข้าของจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2023 พบว่าตกต่ำลง -5.5% ส่งผลให้กลายเป็นการนำเข้ารายปีของจีนที่ตกต่ำครั้งแรกในรอบ 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่จีนเผชิญกับการเริ่มต้นวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19
สาเหตุจากปริมาณการค้าส่งออกและนำเข้าของจีนกับระดับภูมิภาคนั้นตกต่ำลง โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนนั้น มีปริมาณและมูลค่าตกต่ำทั้งปีผ่านไป และการค้ากับกลุ่มสหภาพยุโรปลดลงทั้งปี 2023 นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ด้านสินค้าที่ผลิตและส่งออกของจีนในปีผ่านไปล้วนมีปริมาณลดลงแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้น 4 กลุ่มสินค้า ได้แก่เครื่องจักร เรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และรถยนต์
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังคงรักษาตำแหน่งคู่ค่าใหญ่อันดับ 1 กับจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่รัสเซียกลายเป็นคู่ค้ากับจีนที่มีความโดดเด่นในปีผ่านมา เนื่องจากจีนมียอดส่งออกไปรัสเซียเพิ่มสูงถึงเกือบ 47% และยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบ 13%
เศรษฐกิจจีนในปี 2023 ยังเผชิญกับภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นท่ามกลางกำลังซื้อของประชาชนจีนที่ตกต่ำจากหลากหลายปัจจัยลบในปีผ่านไป กระทรวงพาณิชย์ จีนแผ่นดินใหญ่ แถลงภาวะเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม ปี 2023 ปรากฏว่าลดลง -0.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2022 ส่งผลทำให้เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หรือทั้งไตรมาสที่ 4 ในปีผ่านไป ดังนั้น เศรษฐกิจจีนจึงเผชิญกับภาวะเงินฝืดที่ยาวนานที่สุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2009 หรือตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาล่มสลาย
ขณะที่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2024 ผ่านมา ธนาคารโลก หรือ World Bank เปิดเผยเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจโลกปี 2024 พบว่า คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2024 จะลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนมิถุนายนปีผ่านมา ซึ่งเคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.6% ลดลงมาขยายตัวที่ระดับ 4.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะขยายตัวอย่างย่ำแย่ หรือตกต่ำมากที่สุดในรอบ 30 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา หากไม่นับรวมช่วงเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในช่วงระหว่างปี 2020-2022 ผ่านมา
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2025 ลงจากเดิมมาเติบโตเพียง 4.3% ส่งผลกลายเป็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมากถึง 2 ปีติดต่อกัน
สาเหตุจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ส่งกระทบทุกระดับภาคเศรษฐกิจ และต้องการใช้เวลาหลายปีในการแก้วิกฤตอสังหาริททรัพย์ให้ตรงจุด นอกจากนี้ ปัญหาการชะลอใช้จ่ายเพื่อบริโภคของประชาชนชายจีนในประเทศยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะประชาชนชาวจีนเข้าสู่วัยชราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดรับกับจำนวนประชากรจีนเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างมากในรอบหลายทศวรรษที่ยังคงเกิดขึ้น
ปัจจัยลบต่อมา คือ ภาระหนี้สินครัวเรือนของประชาชนจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ล้อไปกับภาวะหนี้เสียของภาคเอกชนจีนโดยเฉพาะในวิกฤตอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ล้มละลายจำนวนไม่น้อย ทำให้เป็นข้อจำกัดด้านการลงทุนของภาคเอกชนจีน ที่สำคัญ ปัจจัยลบด้านประสิทธิผลการผลิตลดต่ำลงมาก