เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การบริหารของ นพ.สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเปลี่ยนมาเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอยู่
โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 6-12 มกราคม 2567 จำนวน 643 คน หรือเฉลี่ยวันละ 91 คน ซึ่งในจำนวนนี้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 53 คน ทำให้ยอดผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 12 มกราคม 2567 มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 33,966 คน เสียชีวิตสะสม 76 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยสะสม ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 1,511 คน โดยรักษาหายแล้ว 1,395 คน ยังเหลือที่ต้องยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อีก 46 คน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาด อยู่ในเกณฑ์รุนแรงน้อย มีบุคลากรดูแล มีเตียงไว้รองรับผู้ป่วยเพียงพอ ปัจจุบันจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล มีอยู่ 1,081 เตียง มีผู้ป่วยอาการรุนแรง ระดับสีแดง ครองเตียงอยู่ 26 เตียง ในขณะที่ยาต้านไวรัสแต่ละชนิด และ Long Acting Antibody มีในสต๊อกเพียงพอ ซึ่งมาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมการระบาดของโรค ยังต้องใช้มาตรการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่มเสี่ยง สามารถฉีดควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เลย
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ JN.1 ที่พบว่าเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ติดกันง่าย แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งหลังจากปีใหม่มีสถิติผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ประมาณวันละกว่า 4,000-6,500 คนต่อวัน ยังมีอัตราผู้ป่วยหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจต่อเนื่องด้วย โดยแพทย์คาดการณ์ว่าจะมีการแพร่ระบาดสูงในช่วงเดือนมกราคม หรือ 5 สัปดาห์แรกของปีนี้เป็นต้นไป จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และจะสงบลงในเดือนมีนาคม 2567
ดังนั้นจึงขอประชาชนกลับมายกการ์ดให้สูงขึ้นอีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ JN.1 แม้ว่าอาการเบื้องต้นจะไม่ค่อยรุนแรง มีไข้หวัด ไอเจ็บคอ ธรรมดา แต่ก็มีผู้ป่วยที่อาการหนักรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจแต่พบตัวเลขผู้ป่วยที่ทั้งไปหาหมอและไม่ได้ไปรักษา ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านก็ตามมีจำนวนที่สูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ