ดึงซื้อลงทุน! กนอ. เร่งฟื้นลงทุน ชูพลังงานสะอาด ตั้งเป้ายอดขายนิคมปี 67 ที่ 3,000 ไร่

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในงาน “The Journey of Sustainable Partnership 2024” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ขณะเดียวกัน สนับสนุนให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมที่จะเป็นรากฐานเศรษฐกิจในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ 

ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะเร่งผลักดันให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ การขออนุมัติอนุญาต เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มีการให้บริการในรูปแบบ One Stop Service เข้าถึงและใช้งานง่าย มีความโปร่งใส เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ 

รวมถึงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่จะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญของประเทศ ให้มีความพิเศษและสิทธิประโยชน์มากกว่าการตั้งโรงงานนอกนิคมฯ (stand alone) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความพร้อมของพลังงานสะอาด และการจัดการกากของเสียด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในนิคมฯ“  

นอกจากนี้ ยังเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศรวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป ในการพัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับการผลิต ให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี รวมทั้งการเตรียมรับมือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ 

ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการสร้างการเติบโตและรายได้ให้กับประเทศ ดังนั้นขอย้ำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนจะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและมีความเชื่อมโยงกันแม้จะเปลี่ยนรัฐบาล โดยจะไม่สร้างอุปสรรคให้กับนักลงทุน สะท้อนจากมาตรการส่งเสริมอีวี 3.5“

ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพรระนอง) หรือ โครงการแนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ช่วยเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างภาคใต้ของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลา และระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก                

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2567 กนอ. จึงกำหนดแผนฟื้นฟูการลงทุน โดยลดบทบาทการเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (regulator) มาเป็นหน่วยงานอำนวยคามสะดวก (facilitator) สำหรับผู้ประกอบการในทุกด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็น 27% ต่อ GDP ภายในปี 2569 โดยแผนฟื้นฟูการลงทุนของ กนอ. ประกอบด้วย 

1.การพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ๆ ให้พร้อมรับการลงทุน 

2.ส่งเสริมการลงทุนโดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาด เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ 

3.พัฒนาผู้ประกอบการด้วยการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล 

4.สร้างความยั่งยืนโดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles