นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.58 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.65 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.52-35.68 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) สหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด
เงินบาททยอยพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นอกจากนี้ การรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำเหนือระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็มีส่วนช่วยพยุงให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าเริ่มชะลอลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้ทยอยปรับลดโอกาสการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดไปพอสมควรแล้วในสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี เราคงมองว่าเงินบาทก็ยังขาดปัจจัยสนับสนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยเรายังคงประเมินโซนแนวรับเงินบาทแถว 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เรามองว่าการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของทั้ง ECB และ BOE ก็จะมีผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์เช่นกัน ดังที่จะเห็นในวันก่อนหน้าที่เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังอัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังอยู่ในระดับสูงกว่าคาด ซึ่งในวันนี้เรามองว่ารายงานยอดค้าปลีกของอังกฤษก็จะมีผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย BOE และอาจกระทบต่อทิศทางเงินปอนด์อังกฤษและเงินดอลลาร์ได้
นอกจากนี้ ทิศทางราคาทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ยังคงส่งผลต่อเงินบาท โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำได้บ้าง (ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท) หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซนแนวต้านแถว 2,030-2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์