ตลาดหุ้นไทยปิดวันนี้ดิ่งลงแรงกว่า 12.59 จุด แรงเทขายหุ้นใหญ่-กลุ่มแบงก์ต่อเนื่อง

ตลาด หุ้นไทย ปิดวันนี้ดิ่งลงแรงกว่า 12.59 จุด แรงเทขายหุ้นใหญ่-กลุ่มแบงก์ต่อเนื่อง

ดัชนี SET Index ตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,369.92 จุด ดิ่งลง 12.59 จุด หรือ -0.91% มูลค่าซื้อขายสุทธิ 51,504.24 ล้านบาท โดยดัชนีปิดทำสถิติต่ำสุดในรอบ 1 เดือน หลุด 1,378.94 จุด จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน หุ้นค้าปลีก และหุ้นกลุ่มแบงก์

โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับลงเป็นส่วนใหญ่เป็นผลจากผลประกอบการไตรมาส 4/66 ขณะเดียวกัน ในภาพรวมยังโดนแรงกดดันจากดอกเบี้ยที่มีโอกาสที่ทาง กนง. จะปรับลดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยไม่น่าจะปรับขึ้นแล้วจากนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถทำกำไรลดลง โดยเฉพาะส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) และสุดท้ายที่สุดกระทบกับกำไรสุทธิ

การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีปรับตัวลงตลอดวัน โดยดัชนีทำจุดต่ำสุด 1,369.42 จุด ทำจุดสูงสุดที่ 1,383.51 จุด

ส่วน 3 หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด ได้แก่
1. KBANK ปิดที่ 120.50 บาท ลดลง -5.00 บาท
2. KTB ปิดที่ 16.20 บาท ลดลง -1.90 บาท
3. TTB ปิดที่ 1.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.11 บาท

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับ ตัวลง มีแรงขายจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4/66 ต่ำกว่าที่ตลาดคาด รวมทั้งมีแรงขายหุ้น Big Cap ตามมาด้วย จากความกังวลแนวโน้มผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดเช่นเดียวกับกลุ่มธนาคาร ขณะที่ตลาดภูมิภาคบวกลบสลับ โดยยังมีตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

แนวโน้มวันพรุ่งนี้คาดดัชนีแกว่งไซด์เวย์ นักลงทุนรอติดตามการเมืองในประเทศ โดยวันที่ 24 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญจะ พิจารณาคดีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในสัปดาห์นี้ติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย, การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย และ การเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ โดยให้แนวรับ 1,365 จุด และแนวต้าน 1,375 จุด

บล.กสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้คาดว่ามีแนวรับที่ 1,370-1,385 จุด และมีแนวต้านอยู่ที่ 1,400-1,425 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือน ธ.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 4 ปี 66 ของบจ. ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4ปี66 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles