จากกรณีที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นทลายโรงงานลูกชิ้นไม่ได้รับอนุญาต ย่านปทุมธานี 2 แห่ง โดยโรงงานดังกล่าวลักลอบผลิตลูกชิ้นจำนวนมาก ในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะและบรรจุขายในชื่อสินค้าที่แตกต่างกันถึง 9 ยี่ห้อ แล้วนำส่งตามตลาดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพฯ และจังหวัดในปริมณฑลหลายแห่งนั้น เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค เรียกร้องให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุกแห่งทั่วประเทศ ลงพื้นที่เร่งสำรวจสถานที่ผลิตอาหารในพื้นที่ในความรับผิดชอบของตนเองอย่างเร่งด่วน ว่ามีสถานที่ผลิตอาหารในพื้นที่ที่ได้ขออนุญาตผลิต หรือแอบลักลอบผลิตอาหารหรือไม่ หากพบว่ามีการลักลอบผลิตอาหารขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายทันที เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในความรับผิดชอบของตนเองให้ปลอดภัย เนื่องจากที่ผ่านมาปรากฎข่าวว่ามีการตรวจพบโรงงานลูกชิ้นที่ไม่ได้รับอนุญาตแอบลักลอบผลิตในพื้นที่ เช่น เมื่อกลางเดือนธันวามคม 2566 พบการลักลอบผลิตลูกชิ้นหมูจำนวนมากในสถานที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะในย่านปทุมธานี และในวันที่ 22 มกราคม ก็ยังพบโรงงานลูกชิ้นที่ไม่ได้รับอนุญาต ย่านปทุมธานี อีก 2 แห่ง
“การพบโรงงานผลิตอาหารที่ที่แอบลักลอบผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตหลายแห่งในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคในหลายพื้นที่ได้รับความเสียง เพราะสินค้านี้อาจกระจายไปทั่วประเทศ การเร่งดำเนินการตรวจสอบสถานที่ในพื้นที่ตนเองจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคได้ทันการณ์ก่อนที่จะได้รับอันตราย” ภก.ภาณุโชติ ระบุ
การตรวจพบสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่ขออนุญาตหรือไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคอีกด้วย เพราะทำให้ผู้บริโภคขาดข้อมูลที่จำเป็น และอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย เช่น ในลูกชิ้นอาจมีการแอบผสมสารบอแรกซ์หรือสารต้องห้ามชนิดอื่นๆ ก็ได้
นอกจากนี้ ภก.ภาณุโชติ แนะนำว่า ผู้บริโภคไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร และไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต เพราะอาจได้รับอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคพบอาหารหรือพบข้อมูลว่าสถานที่ผลิตอาหารมีกระบวนการผลิตที่ไม่ชอบมาพากล ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการทันที โดยอาจแจ้งได้ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น หรือแจ้งร้องเรียนได้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เบอร์สายด่วน 1135 หรือ สายด่วน อย. 1556 หรือสภาผู้บริโภค 1502
ทั้งนี้ จากกรณีการเข้าจับกุมโรงงานลักลอบผลิตลูกชิ้นข้างต้น เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม ผู้ประกอบการจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ผู้ประกอบการถูกระวางโทษปรับถึง 30,000 บาท