นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานท่าอากาศยานชิโตเสะ ประเทศญี่ปุ่น จะนำมาสู่การใช้เป็นหนึ่งในโมเดลในการปรับโฉมสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบผสมผสาน ไม่ได้เน้นการทำกำไรเพียงอย่างเดียว แต่จะทำให้ผู้โดยสารมีส่วนร่วมกับการใช้พื้นที่ให้มากที่สุด
โดยสนามบินสุวรรณภูมิมีปริมาณผู้โดยสารจำนวนมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ 450,000 ตารางเมตร ขณะที่สนามบินชิโตเสะมีผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี แต่มีพื้นที่มากถึง 320,000 ตารางเมตร ผู้โดยสารของชิโตเสะน้อยกว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึง 3 เท่า แต่พื้นที่น้อยกว่าแค่ 20% ดังนั้น หากจัดการให้พื้นที่รองรับผู้โดยสารเพียงพอแล้วจะจะต้องมาดูเรื่องกำไรเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น
ส่วนสนามบินชิโตเสะ เป็นสนามบินภูมิภาคอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ให้บริการวันละ 500 เที่ยวบิน แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 100 เที่ยวบิน และในประเทศ 400 เที่ยวบิน เนื่องจากลักษณะท่องเที่ยวของคนญี่ปุ่นเดินทางในประเทศเป็นหลัก ส่วนนอกประเทศส่วนใหญ่บินลงที่โตเกียวและต่อเครื่อง
ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับไทยสนามบินชิโตเสะก็คล้ายกับสนามบินภูเก็ต หรือเชียงใหม่ ที่เป็นเมืองหลักท่องเที่ยว ซึ่งคนญี่ปุ่นโหวตให้สนามบินชิโตะเสะเป็นอันดับ 1 ทั้งเรื่องการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เช่น ห้องน้ำ โรงแรม สปา และร้านอาหาร เป็นต้น โดยสนามบินชิโตเสะมีเอกชนบริหารด้านบริการ 100% ขณะที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นเจ้าของอาคารและที่ดิน
พื้นที่ของสนามบินชิโตเสะ มี 2 terminal และ 2 รันเวย์ รองรับได้ 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง พื้นที่ terminal ประมาณ 320,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 70,000 ตารางเมตรสำหรับพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยนำซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นมาจัดมาแสดง เช่น แอนิเมชันชื่อดัง เช่น โดเรมอน คิตตี้ และอาหาร เช่น นำโรงงานช็อกโกแลต royce ชื่อดังมาจัดแสดง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการนำร้านอาหาร Local มารวมกันที่สนามบิน โดยการนำร้านราเมงมาโชว์เคส 20 ร้าน ทำให้คนไม่ต้องมาไล่หาร้านอาหาร ซึ่งในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอาจทำ Bangkok Food street นำร้านอาหารดังๆ มารวมกัน น่าจะนำมาพัฒนาต่อได้
นอกจากนี้ ท่าอากาศยานนิวซิโตเสะ ยังมีการประหยัดพลังงาน เนื่องจากเกาะฮอกไกโดมีหิมะตกจำนวนมาก มีการจัดพื้นที่เก็บหิมะได้ 120,000 ลูกบาศก์เมตร นำมาใช้ผลิตความเย็นให้กับอาคารผู้โดยสารในช่วงฤดูร้อน ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 20-30% ขณะที่ ทอท. มีโมเดลประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้พื้นที่หลังคาอาคารผู้โดยสารและอาคารต่างๆ รวมถึงพื้นที่บ่อน้ำและพื้นที่ด้านข้างรันเวย์ติดตั้งโซลาเซลล์สร้างจุดกักเก็บพลังงานเป้าหมายที่ 60 เมกกะวัตต์ภายใน 4 ปี เพื่อนำมาใช้ในอาคารในเวลากลางวัน ไม่ต้องซื้อไฟฟ้าโดยจะร่วมกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) ดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลลและโซลาร์รูฟเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 กำลังการผลิตเริ่มต้น 10 เมกกะวัตต์ และจะขยายโซลาร์รูฟหลังคาลานจอดรถ ทั้งลานจอดรถระยะยาวและลานจอดรถแท็กซี่ เริ่มก่อสร้างแล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนเม.ย. 67 เพิ่มกำลังผลิตรวมเป็น 12 เมกกะวัตต์ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ถูกกว่าซื้อประมาณ 20% ซึ่งปกติสนามบินสุวรรณภูมิจ่ายปีละ 100 ล้านบาท ก็จะทำให้ประหยัดไป 20 ล้านบาท และพร้อมก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero