นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้โพสต์ทวิตเตอร์ (X) เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา (19 พ.ย.) ว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)วันนี้บ่งบอกถึงสถานะของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะวิกฤติ “critical stage” ท่านเลขาฯ (ดนุชา พิชยนันท์เลขาธิการ สศช.) เองก็เห็นด้วยกับการที่ควรต้องมีการลดดอกเบี้ย อยากขอวิงวอนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เรียกประชุมคณะกรรมการเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ยโดยไม่คอยถึงการประชุม scheduled ไว้
ทั้งนี้การโพสต์ข้อความเรื่องการขอให้ กนง. เรียกประชุมคณะกรรมการนัดพิเศษนั้นเกิดขึ้นภายหลังที่ สศช. แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2566 ขยายตัวได้ 1.7% และเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% และปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2567 ลงเหลือขยายตัวได้เพียง 2.7% จากเดิม 3.2%
ทั้งนี้วันที่ 19 ก.พ.นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 และรวมทั้งปี เศรษฐกิจไทย ขยายตัวเพียง 1.9% ว่า เรื่องนี้ได้พูดไปหลายหนแล้ว และน่าจะทราบจุดยืนของตนอย่างชัดเจน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของเรา เฉลี่ยโตต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เทียบกับลำดับจีดีพีโลกเราก็ต่ำลงไปเรื่อยๆ และอย่าลืมว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามายังไม่สามารถใช้งบประมาณได้เลย เร็วที่สุดที่น่าจะใช้ได้ก็คือ 1 เมษายน 2567 แต่ทุกกระทรวงได้ใช้นโยบายเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบเลย ซึ่งหลายสำนักมีการปรับประมาณการณ์จีดีพีลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินการทุกมาตรการที่มีอยู่ ส่วนตัวขอฝากไว้ว่านโยบายดอกเบี้ยไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5 %หากลดลงเหลือ 2.25 %เพียงสลึงเดียวก็จะช่วย บรรเทาภาระของพี่น้องประชาชนทุกคนได้แต่เขาไม่ลดกัน
“ดอกเบี้ยนโยบายใครเป็นคนควบคุม ก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย” ตนพูดคุยกับเลขาธิการสภาพัฒน์ ฯ(สศช.) ก็บอกว่าเราได้ทำทุกวิถีทางแล้ว และมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งเลขาธิการสภาพัฒน์ระบุว่าได้คุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยว่าถึงเวลาที่จะต้องลด”
“ผมจึงบอกว่าทำไมไม่พูดคุยต่อหน้าสาธารณะชนบ้าง และพูดคุยในภาษาที่ชัดเจน ซึ่งเลขาสภาพัฒน์ผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทยและผมเองต่างก็จบเศรษฐศาสตร์มา ตรงนี้เราไม่ได้มาเอาชนะกัน แต่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้น เพื่อรองบประมาณที่จะคลอดออกมา ผมก็ได้สอบถามกับเลขาธิการสภาพัฒน์ว่าสามารถทำอะไรได้อีก หากมีอะไรที่ทำได้ก็ขอให้เสนอมา ผมไม่ได้จมปลักอยู่กับการลดดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่การลดดอกเบี้ยก็เป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชน คนไทยทุกคน ซึ่งเห็นอยู่แล้วสำหรับตัวเลขที่ออกมา รัฐบาลพยายามดำเนินการทุกอย่างที่สามารถทำได้ ณ วันนี้ ยินดีรับฟังว่าอยากให้รัฐบาลทำอะไร แต่ต้องคำนึงว่างบประมาณสามารถใช้ได้หรือไม่ อย่างเร็วที่สุด 1 เมษายน ซึ่งพยามเร่งอยู่แล้ว”