ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 66 ที่ผ่านมา ยังพอมีแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่ภาพรวมการใช้จ่ายของภาคประชาชนกลับเห็นสัญญาณเปราะบางขึ้น สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารและโรงแรม (เช่น การใช้จ่ายสินค้าจำเป็น ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่า ค่าซื้อยานพาหนะ ฯลฯ) ขยายตัวได้เพียง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สวนทางกับการใช้จ่ายในส่วนของร้านอาหารและโรงแรมเติบโตถึง 46.5%
ttb มองว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 แม้ระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันสามารถปิดช่องว่างผลผลิตได้แล้ว (ช่องว่างผลผลิต หรือ Output Gap หมายถึง ส่วนต่างระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจปัจจุบันเทียบระดับศักยภาพ) แต่เป็นการปิด Output Gap เทียบกับระดับศักยภาพใหม่ที่ลดลง กล่าวคือ เศรษฐกิจไทยมักจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเพิ่มขึ้นทุกครั้งหลังเกิดวิกฤต ทำให้เศรษฐกิจในระยะสั้นฟื้นตัวช้ามาก ส่วนในระยะยาว มีแนวโน้มขยายตัวต่ำเฉลี่ยไม่ถึง 2.0% ต่อปี อีกทั้งโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นได้ช้ากว่าหลายๆ ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าในอดีต
ทั้งนี้ ttb ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 67 มีแนวโน้มขยายตัว 2.6% ดีขึ้นจากปี 66 ที่ขยายตัว 1.9% แต่เป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเชื่องช้าและยังมีความเสี่ยงรอบด้าน แม้เศรษฐกิจในช่วงต้นปี ได้แรงส่งจากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นตามอานิสงส์ของช่วงเทศกาล แต่แรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะสั้น อาจมีเพียงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่การลงทุนโดยรวมฟื้นตัวล่าช้า รวมถึงการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้จำกัด
สำหรับเงินเฟ้อปี 67 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.8% ท่ามกลางการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน) ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.0% ซึ่งสูงกว่าประเทศคู่เทียบอย่างมาเลเซีย และเกาหลีใต้ และสูงกว่าสหรัฐฯ ที่ระดับ 1.0%
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย หากพิจารณาตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ยังไม่ได้รวมผลของส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ (Change in Inventory) และส่วนต่างทางสถิติ (Statistical Discrepancy) จะเห็นว่าตัวเลขในฝั่งอุปสงค์ (Demand Side) แตกต่างกับการเติบโตของเศรษฐกิจในฝั่งอุปทาน (Supply Side) อย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 65 เนื่องจากส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ และส่วนต่างทางสถิติมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ สะท้อนจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจฝั่งอุปทานในปี 66 ขยายตัวได้เพียง 2.1% (YoY) ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจฝั่งอุปสงค์กลับขยายตัวถึง 4.5% (YoY) เหล่านี้สะท้อนการปรับตัวของวัฎจักรธุรกิจทำได้ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในฝั่งอุปสงค์ ที่มีความยืดหยุ่นตามสภาพเศรษฐกิจและพฤติกรรมทางสังคม
อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตในประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากสินค้านำเข้าของจีนที่เข้ามาในตลาดไทย โดยการปรับตัวของโครงสร้างภาคผลิตไทย ทำได้ช้าจึงแข่งขันได้ยาก จากข้อจำกัดในเรื่องห่วงโซ่อุปทานในแต่ละอุตสาหกรรม และลักษณะเฉพาะด้านโครงสร้างธุรกิจ อีกทั้งการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็วในทางกลับกัน สินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าจากจีน มีข้อได้เปรียบจากราคาที่ค่อนข้างถูกตาม การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) รวมถึงการฉกฉวยข้อได้เปรียบจากระเบียบการยกเว้นภาษีขาเข้าศุลกากรของไทย ส่งผลให้ไทยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยสูงถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 20% ของมูลค่านำเข้าจากจีนทั้งหมด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในประเทศอาจต้องเผชิญการแข่งขันในประเทศที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงที่สถานการณ์สินค้าจีนทะลักเข้าไทย จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (ทั้งมิติของปริมาณ และการกระจายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น) จากผลพวงของเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงกว่าในอดีต จากผลกระทบของวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ภาคการผลิตจีนยังคงรักษาอัตรากำลังการผลิตในระดับสูง เพื่อคงระดับการจ้างงานในประเทศต่อไป จึงเกิดเป็น “ภาวะการผลิตมากเกินไป” (Overproduction) ขณะที่ผู้ผลิตจีนก็มีข้อจำกัดทางการค้า จากประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น ทำให้ไม่สามารถระบายสินค้าไปยังคู่ค้าหลักเดิมอย่างสหรัฐฯ ได้เหมือนในอดีต ส่งผลให้จีนปรับเปลี่ยนการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งที่ใกล้เคียงเพิ่มขึ้น
ขณะที่ไทย มีการนำเข้าสินค้าจากจีนขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 9.2% ในช่วงปี 63-66 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดเมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญ หรือขาดดุลการค้าราว 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 66