พิษหมูเถื่อน! เบทาโกรขาดทุนปี 66 พุ่งเกือบ 1,400 ล้านบาท เซ่นพิษหมูเถื่อนทะลักไทย

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2566 มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 108,638 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีผลขาดทุนสุทธิ 1,398 ล้านบาท สาเหตุจากบริษัทเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกหลากหลาย ทั้งสถานการณ์ราคาสุกรตกต่ำ จากการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนและเนื้อสุกรจากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดยสามารถบริหารอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) อยู่ที่ 0.97 เท่าในปี 2566 และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือการลงทุน TRIS Rating คงอันดับเครดิตที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือคงที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ศักยภาพการดำเนินธุรกิจและโอกาสเติบโตของบริษัท

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มปี 2567 บริษัทวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ 2024 เพื่อนำพาเบทาโกรไปสู่บริษัทอาหารครบวงจรชั้นนำของไทย ที่มุ่งมั่นเพิ่มคุณค่าชีวิตทุกคน ด้วยอาหารที่ดีกว่าเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายผลการดำเนินงาน 2567 เติบโต 5-10% โดยวาง 3 กลยุทธ์หลักซึ่งเป็นหัวใจในการสร้างการเติบโตที่มั่นคง และยั่งยืนให้ เบทาโกร และอุตสาหกรรมอาหาร ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม (Agribusiness)

กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน (Protein & Food Business) กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ (International Business) และกลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง (Pet Business) พร้อมเสริมทัพผู้นำ ด้วยทีมบริหารที่มีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ไกล สร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน โดยทั้งหมดนี้เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กรอบ ESG (Environmental, Social, Governance)

กลยุทธ์สำคัญในปี 2024 ประกอบด้วย 1) กลยุทธ์การขยายกำลังการผลิต (Capacity Expansion) ด้วยการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ฟาร์มปศุสัตว์และโรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่ประเทศลาว รวมทั้งขยายโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่จังหวัดลพบุรี เป็นต้น พร้อมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยยกระดับการผลิตให้ทันสมัย เพิ่มประสิทธิผลให้ดียิ่งขึ้น

2) กลยุทธ์ปรับพอร์ตสินค้าและช่องทางการจำหน่าย เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร (Product & Channel Mix Adjustment) มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายและอัตรากำไรที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้และส่วนแบ่งการตลาด พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น ร้านเบทาโกรช็อป ช่องทางฟู้ดเซอร์วิส และช่องทางการส่งออก เป็นต้น

3) กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Cost Transformation) เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพและผลิตภาพ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการทำกำไรที่ดียิ่งขึ้น อาทิ การผลิตปศุสัตว์ และระบบการขนส่ง เป็นต้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles