ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า นายปราโบโว ซูเบียนโต เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ด้วยคะแนนเสียง 58.6% นายยิบราน รากาบูมมิง รากา เป็นรองประธานาธิบดี มีกำหนดการเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค. 2567 นโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ผู้นำสูงสุดคนใหม่ที่เปิดเผยออกมา มีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโต 8% ในระยะ 5 ปี ซึ่งในรายละเอียดของนโยบายได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการจัดสรรงบประมาณขนาดใหญ่ นโยบายสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับกระแสโลก รวมถึงนโยบายด้านต่างประเทศที่ยังคงคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ สรุปดังนี้
ด้านนโยบายเศรษฐกิจ กำหนดให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงถึง 8% ในช่วง 5 ปี ประกอบด้วย แผนการย้ายเมืองหลวงใหม่มีความต่อเนื่อง นโยบาย Downstreaming policy ยังคงสานต่อห้ามส่งออกแร่ดิบที่สำคัญ เป้าหมายนำพาประเทศไปสู่รายได้ระดับสูงในปี 2045 มีรายได้ต่อหัว 30,000 ดอลลาร์ฯ ต่อปี โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก เช่น โครงการอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็ก โครงการตรวจสุขภาพฟรี การขึ้นเงินเดือนครู อาจารย์บุคลากรการแพทย์ แผนงานจัดหารายได้ภาคการคลังด้วยการเพิ่มสัดส่วนภาษีต่อ GDP เป็น 16% (จากปัจจุบัน 10%) โดยเน้นไปที่การขยายฐานภาษีสู่กลุ่มธุรกิจที่ไม่เคยเก็บภาษี อาทิ Shadow economy
ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2060 เน้นการใช้ไบโอดีเซล จากปาล์มอ้อยและมันสำปะหลัง โดยเป้าหมายในปี 2572 เพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันที่ผสมน้ำมันไบโอดีเซลเป็น 50% (B50) (จากปัจจุบันอยู่ที่ 35% (B35)) และผสมไบโอเอทานอลเป็น 10%
สำหรับนโยบายการต่างประเทศ ยังคงมีท่าทีกับต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ไม่เลือกข้าง ให้ความสำคัญกับจีนในฐานะคู่ค้าและนักลงทุนสำคัญ แม้จะมีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เช่นเดียวกับการรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แม้จะมีความเห็นต่างในเรื่องความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ และนำพาอินโดนีเซียเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
การเดินหน้าแผนงานเดิมสร้างจุดแข็งให้ประเทศ เช่น แผนงานย้ายเมืองหลวงด้วยงบประมาณขนาดใหญ่จะทยอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปอีก 2 ทศวรรษ ในปี 2567 มีงบประมาณที่จะทยอยเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจเป็นวงเงิน 40.6 ล้านล้านรูเปียะห์ (2.7 พันล้านดอลลาร์ฯ) หรือประมาณ 0.19% ของ GDP ทั้งนี้ เมืองหลวงใหม่ตั้งอยู่ที่นุสันตารา เกาะกาลิมันตันตะวันออก คาดว่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2588 รวมวงเงินที่จะกระจายสู่เศรษฐกิจสูงถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 2.7% ของ GDP ในปีปัจจุบัน
การลงทุนจากต่างประเทศยังเป็นแรงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายของนโยบาย Downstreaming policy ที่ห้ามส่งออกแร่ดิบเพื่อให้เกิดห่วงโซ่การผลิตขั้นกลางสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในช่วง 3 ปีนับตั้งแต่เริ่มมาตรการ มีการลงทุนใหม่เพิ่มเข้ามาในกลุ่มการถลุงแร่ การผลิตแบตเตอรี่ EV โดยในปี 2566 มูลค่า FDI ที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 744 ล้านล้านรูเปียะห์ (47.34 พันล้านดอลลาร์ฯ) หรือขยายตัว 13.7% นำโดยอุตสาหกรรมโลหะพื้นฐาน ตามมาด้วยคลังสินค้า การสื่อสาร เคมีภัณฑ์ ยา กระดาษและเยื่อกระดาษ
แนวนโยบายเพิ่มเติมภายใต้แผนงานของผู้นำคนใหม่ ได้แก่ มาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตที่จะช่วยสนับสนุนการบริโภคให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้นอีก ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินขนาดใหญ่และจะมีผลกระทบต่อฐานะการคลังในระยะข้างหน้า นำโดยโครงการจัดหาอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็กถึง 82.9 ล้านคน ที่คาดว่าจะดำเนินการเป็นลำดับแรกในปีงบประมาณ 2568 โดยใช้วงเงินงบประมาณราว 400-450 ล้านล้านรูเปียะห์ (25.6-28.9 พันล้านดอลลาร์ฯ) รวมไปถึงโครงการอื่นๆ อาทิ โครงการตรวจสุขภาพฟรี การขึ้นเงินเดือนข้าราชการครูอาจารย์มหาวิทยาลัยและบุคลากรการแพทย์ โดยในปีงบประมาณ 2567 คาดว่าการขาดดุลการคลังของอินโดนีเซียอยู่ที่ 2.29% ต่อ GDP และในปีงบประมาณถัดไป หากมีการดำเนินการนโยบายดังกล่าวทั้งหมดคงทำให้ดุลการคลังขาดดุลไม่ต่ำกว่า 2.5% ของ GDP
การใช้พลังงานทางเลือกจากผลผลิตเกษตร ภายในปี 2572 มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลเป็น 50% (B50) จากปัจจุบันอยู่ที่ 35% (B35) และเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอเอทานอลเป็น 10% โดยใช้วัตถุดิบจากน น้ำมันปาล์ม อ้อย และมันส าปะหลัง ซึ่งการใช้ผลผลิตจ านวนมากต้องเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง รัฐบาลชุดนี้จึงยังมีหลายด้านที่ต้องบริหารจัดการไปพร้อมกันเพื่อไม่ให้กระทบเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2603
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นโยบายเศรษฐกิจของนายปราโบโว ซูเบียนโต ยังมีความท้าทายอย่างมากด้วยเป้าหมายเศรษฐกิจเติบโตที่ 8% นับว่าสูงที่สุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ โดยยังต้องรอดูความชัดเจนของมาตรการหลังจากเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 2568 เป็นต้นไป ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2567 จะรักษาระดับการเติบโตได้ที่ใกล้เคียง 5% จากแรงหนุนผ่านการบริโภค การลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ขณะที่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจะยังเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย