เมื่อวานนี้ 25 มีนาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดมีมติให้กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยให้รับคำฟ้องของผู้บริโภค 5 รายในคดีขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กรณีรับทราบการควบรวม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค และขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช.กำหนดมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ไว้พิจารณา
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าแม้การยื่นฟ้องคดีจะพ้นกำหนดระยะเวลาฟ้องคดีแล้ว แต่คดีนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของผู้บริโภคทั้ง 5 รายไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
ข้อเท็จจริงของคดีปรากฎว่า กสทช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 27(11) (24) และมาตรา 81 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ประกอบมาตรา 21 และมาตรา 22 (3) (4) (5) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560
เดิมมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส และผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกสทช. จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศและมติของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว
การที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 อ้างว่าประกาศ กสทช. ทั้งการออกมาตรการ กำกับดูแลการควบรวมรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และการรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ทรูกลายเป็นผู้ดำเนินกิจการที่อยู่เหนือตลาด หรือดำเนินกิจการโทรคมนาคมเพียงรายเดียว ย่อมจะส่งผลให้อัตราค่าบริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และย่อมส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเลือกรับ หรือตัดสินใจในการรับบริการโทรคมนาคมได้ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเสี่ยงได้
“ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้ง การลงทุนในการประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคม จึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย ทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติการที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการในวงกว้างด้วย” ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องนี้ของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้พิจารณาพิพากษาได้