นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกเดือน ก.พ. 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.6% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 827,139 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 23,938.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.2% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 856,508 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 554 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 29,369 ล้านบาท รวม 2 เดือนปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 46,034.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1,611,719 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 49,346.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.9% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1,747,195 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 3,311.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 135,476 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตร 7.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 9.2% หดตัวในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนม กาแฟ ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 2 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 3.7%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 5.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ 2 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 7.7%
ทางด้านตลาดส่งออก ตลาดหลัก เพิ่ม 2.7% โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ 15.5% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 3.3% และ CLMV เพิ่ม 4.5% แต่จีน ลด 5.7% ญี่ปุ่น ลด 5.8% และอาเซียน (5) ลด 1.2% ตลาดรอง เพิ่ม 3.8% โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 26.4% ลาตินอเมริกา 7.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS 46.4% แต่เอเชียใต้ ลด 2.6% ตะวันออกกลาง ลด 9.9% แอฟริกา ลด 18.2% และสหราชอาณาจักร ลด 7.3% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 94.2% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 198.2%
ส่วนแนวโน้มการส่งออกจากนี้ คาดว่า จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากภาคการผลิตฟื้นตัว และเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สินค้าเกษตร ได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์เติบโตตามกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงพาณิชย์ยังคงร่วมมือทำงานกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการตลาด และมีการผลักดันสินค้าของ SMEs ไปต่างประเทศ แต่ก็ต้องจับตาการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีความไม่แน่นอน ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้
“ต้องจับตาการส่งออกในเดือน มี.ค.2567 ที่ฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกได้สูงถึง 28,004.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะมีผลต่อการส่งออก แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกจะยังโตได้ต่อเนื่อง และทั้งปี จะทำงานหนัก เพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1-2% ต่อไป” นายกีรติกล่าว