นายพรชัย รีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 – ก.พ.2567) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 981,902 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 25,144 ล้านบาท หรือ 2.5% และต่ำกว่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.4%
โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าประมาณการ
ขณะที่หน่วยงานที่มีการนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจเนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า และกรมสรรพากรสูง มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 37,059 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.5%
สำหรับรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บ มียอดจัดเก็บ 1,029,726 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 24,430 ล้านบาท หรือ 2.3% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2.1% แบ่งออกเป็น
–สรรพากรจัดเก็บได้ที่ 766,066 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,015 ล้านบาท หรือ 0.8% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.6%
–สรรพสามิตจัดเก็บได้ที่ 213,864 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 32,841 ล้านบาท หรือ 13.3% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 7.9%
–ศุลกากร จัดเก็บได้ที่ 56,135 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,396 ล้านบาท หรือ 5.1% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 11.3%
ทั้งนี้ล่าสุด ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 – ก.พ. 2567) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 979,981 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 1,365,674 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดคุณ จำนวน 55,750 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนก.พ. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 178,500 ล้านบาท