ทีทีบีหนุนรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ช่วยบรรเทาผลกระทบสินค้านอกทะลัก

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่ากรณีที่ นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงการคลังเร่งแผนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เป็นการเร่งด่วน จากเดิมที่ไม่เคยเก็บ เพื่อเป็นบรรเทาความเดือดร้อน SME ไทย มองว่าเป็นสิ่งที่ดีและเห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาเชื่อว่าเป็นมาตรการเพื่อที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้ลดน้อยลง

จากกรณีที่ปัจจุบันมีสินค้าจากจีนทะลักเข้าไทย ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอี ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ขณะที่ในส่วนของทีทีบีเองได้มีการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ซื้อสินค้าจากจีนและขายออกไป โดยได้มีการพูดคุยอย่างใกล้ชิดว่าสามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าทางด้านการเงินได้อย่างไรบ้าง

ในปีนี้ในปี 2567 นี้ ทีทีบีเดินหน้า LEAD the CHANGE for Financial Well-being of SME and Corporate Customers เป็นผู้นำในการสร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์ซัพพลายเชนของแต่ละอุตสาหกรรมสำหรับธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ พร้อมสนับสนุนลูกค้าสู่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตลอดจนยกระดับการทำธุรกรรมทางธุรกิจสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยปีนี้มุ่งเน้นการเติบโตด้านคุณภาพของสินเชื่อมากกว่าปริมาณ

โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี สนับสนุนให้สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ ด้วยสินเชื่อที่เหมาะสมตามขั้นตอนและเพียงพอจนสามารถส่งมอบงานได้ พร้อมกับเพิ่มสภาพคล่องให้ เพียงนำใบแจ้งหนี้และใบตรวจรับงานมาขาย ลดหนี้รับเงินไปใช้ได้ก่อน ซึ่งการสนับสนุนเอสเอ็มอีมีการดำเนินการต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้ว ไม่ได้เพิ่งเริ่มในปีนี้ โดยการพิจารณาสินเชื่อจะพิจารณาลงไปในรายอุตสาหกรรมที่กำลังเจริญเติบโต มีการวิเคราะห์งบการเงินและรายการบัญชีธนาคารย้อนหลัง (bank statement) การพิจารณามีความใกล้เคียงกลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งตัวเลขในปีที่ผ่านมาพบว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยจะใช้กลยุทธ์นี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าเพื่อการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ เฮลท์แคร์ อาหารและเครื่องดื่ม ค้าส้งค้าปลีก กลุ่มบริโภค และโรงเรียนนานาชาติ อย่างไรก็ตาม ทีทีบียังคงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมรายใหญ่ทั้งในกลุ่มพลังงานและเคมีภัณฑ์

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transition Solutions) ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถรับมือกับมาตรการทางการค้าที่หลายประเทศเริ่มนำมาใช้ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงกติกาใหม่ของประเทศไทยอย่าง Thailand Taxonomy และรวมถึง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ นอกจากนี้องค์กรใหญ่หลายแห่งก็ได้เริ่มกำหนดให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นกัน หากไม่สามารถทำตามเกณฑ์ก็อาจสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ หรือมีต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นได้

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของไทย ทีทีบีประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง เหลือ 2.0% ซึ่งก็จะส่งผลต่อการปรับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารที่ปรับลงตามไปด้วย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles