รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน ประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล เปิดเผยว่า สถานการณ์การศึกษาและสถาบันการศึกษาของไทยโดยเฉพาะด้านคุณภาพและมาตรฐานนั้นไม่ขยับแต่อย่างใด สาเหตุจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือต่างประเทศ ปรับปรุงหรือยกระด้บทำมาตรฐานและคุณภาพทำมากกว่า ทำได้สูงกว่า และเยอะกว่าเป็นเท่าตัว
ทุกวันนี้ อันดับมหาวิทยาลัยไทย ค่อยๆ หล่นหายไปเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยตามหลัง เช่นอินโดนีเซีย และเวียดนาม มีความรุดหน้าไปหลายขั้น ดังนั้นการจะไปเกาะกลุ่มกับประเทศเพื่อนบ้านได้นั้น การศึกษาไทยต้องท้าทายตัวเอง มีงานวิจัยร่วมกับต่างประเทศในจำนวนที่มากพอ
รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน เปิดเผยว่า ข้อจำกัดสำคัญที่ส่งผลให้มหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถกระโดดไปอยู่ในระดับเดียวกับสากลได้ มีดังนี้
1. ไทยเสียเปรียบทางด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่มีอาวุธที่จะไปสู้กับคนอื่น โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้เมื่อมีการใช้ AI มากขึ้นภาษาที่ใช้ในการสั่งงานก็คือภาษาพูดถ้าคนไทยไม่สามารถพูดหรือใช้ภาษาสากลได้ ก็จะไม่ได้ประโยชน์จาก AI เพราะฉะนั้นอย่างน้อยภาษาอังกฤษต้องได้
2. การศึกษาระดับพื้นฐานของไทยยังไม่เข้มแข็งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
และ 3. ระบบอุดมศึกษาของไทย ยืดและนาน ซึ่งในความเป็นจริงหากนักศึกษาไทยสามารถเรียนจบและเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว ประเทศไทยก็จะมีแรงงานให้กับประเทศได้เร็วขึ้น ซึ่งตามการวิจัยบ่งชี้ว่า ช่วงพีคของคนที่จะเป็นอัจฉริยะ ทำงานและประสบความสำเร็จได้ต้องอายุไม่เกิน 30 ปี ขณะที่ประเทศไทยจบปริญญาเอกอายุเกิน 30 ไปแล้วนั่นหมายความว่าจบไปก็ใช้งานไม่ทัน
ความเป็นจริงๆการศึกษาไทยเหมือนรถที่วิ่งเร็วได้ แต่พอเข้าอุดมศึกษากลายเป็นรถทุกคันต้องมาวิ่งบนถนนเลนเดียวกัน รถเครื่องยนต์แรงๆ ก็ต้องต่อคิวทำให้ไปได้ช้า แต่ในทางกลับกันถ้าเด็กเก่งมีอุดมศึกษาที่มีระบบการสอนรองรับความเก่งนั้นก็จะสามารถเก่งไปได้อีก เราก็จะได้เด็กเก่งมากๆ ออกมาจากอุดมศึกษา
สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องไม่ลากให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษานาน เด็กต้องได้ความรู้ที่ควรจะได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม และลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของโอกาส กระทรวงต้องการันตีว่าทุกคนจะได้โอกาสการศึกษาที่ดีเหมือนกัน มหาวิทยาลัยเองต้องมองวิธีการสร้างโอกาสส่งเด็กไทยไปเติบโตในต่างประเทศทั้งในเรื่องของการศึกษาและทำงาน ทั้งทุนและการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ สุดท้าย คือ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้ทันสมัย สอนอะไรเก่าๆ ไม่ได้ ทักษะใหม่ๆ ไม่เกิดก็ไม่ตอบโจทย์กับประชากรที่จะไปเป็นคนที่ทำงานได้ดีในอนาคต