คณะกรรมนโยบายการเงิน หรือ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย( แบงก์ชาติ ) แถลงมีมติด้วยคะแนน 5 ต่อ 2 เสียง ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.50% ต่อไปเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน หรือนับตั้งแต่ 29 พ.ย. 2566 เป็นต้นมา ส่งผลให้ยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่สูงในรอบ 10 ปีต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 เดือนต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งการประชุมก่อนถึงครั้งนี้ นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี
ย้อนกลับไปเมื่อวานนี้ 9 เมษายน นายเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์พิเศษเฉพาะกับสำนักข่าวรอยเตอร์สชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ว่า ในสัปดาห์นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงมาอย่างน้อย 0.25% หรืออาจลดลง 0.5% เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน
ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันที่ติดลบมาต่อเนื่อง ความคาดหวังของนายกรัฐมนตรี คือการลดดอกเบี้ยลงไม่เพียงแค่ลง 0.25% อาจจะต้องลงถึง 0.5% สาเหตุจากเวลาในการปรับลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเลยผ่านเนิ่นนานมาแล้ว ในความเป็นจริง แบงก์ชาติควรจะลดดอกเบี้ยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านไป อาจจะขยายตัวอย่างเบาบางน้อยกว่า 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ในปีผ่านไปที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.7% การใช้มาตรการสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคในประเทศก็มีความจำเป็นแท้จริง ได้แต่หวังว่าภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2025 จะได้เห็นผลลัพธ์อะไรบางอย่าง