สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งจัดทำรายงานเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านการเงินและสุขภาพในสังคมอายุยืน พบว่า คนไทยที่มีรายได้ปานกลางและอาศัยอยู่ในเขตเมืองนั้น จะต้องเก็บออมเงินประมาณ 4.3 ล้านบาท เพื่อเป้าหมายเมื่ออายุถึง 60 ปี จึงจะมีเงินเพียงพอใช้จ่ายต่อไปจนถึงอายุ 100 ปี ขณะที่คนไทยที่มีรายได้ปานกลาง และอาศัยในเขตชนบท จะต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท เพื่อเป้าหมายเดียวกัน
ที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2562 พบว่า มีครัวเรือนไทยเพียง 1.2 แสนครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 2.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% ของครัวเรือนทั้งประเทศ
ด้านดีลอยท์ แอนด์ โตชู คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Deloitte & Touche Consulting Group) ซึ่งเป็นบริษัทในธุรกิจบริการที่ปรึกษาชื่อดังระดับโลก โดยร่วมดำเนินการกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับภาวะการเกษียณของคนไทย พบว่ารายได้ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของคนไทยเมื่อผ่านพ้นวัยเกษียณนั้น ต้องมีอัตราการทดแทนรายได้หลังเกษียณ (Replacement Rate) หรือต้องมีสัดส่วนรายได้เหลือพออยู่ที่ 50 – 60%
รายได้หลังเกษียณของคนไทยที่อยู่ในหลักประกันประเภทต่าง ๆ นั้น ปรากฏว่า มีเพียงข้าราชการที่จะมีรายได้เพียงพอที่ 50 – 70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายก่อนวันเกษียณเท่านั้น นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่มีระบบการออมภาคบังคับสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีทั้งจำนวนและสัดส่วนค่อนข้างสูง นั่นหมายถึงคนไทยจำนวนมากมายไม่มีหลักประกันด้านรายได้
ข้อมูลยังเปิดเผยต่อไปว่า ในปี 2564 คนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังคงทำงานมีอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ประกอบด้วยผู้ชาย 44.4% และผู้หญิง 26.7% ที่น่าสนใจ คือ มีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลมีงานทำในสัดส่วนสูงกว่าในเขตเทศบาล หากพิจารณาเป็นรายภาคนั้น ภาคใต้มีสัดส่วนสูงที่สุด ขณะที่กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนที่ต่ำที่สุด ในขณะที่ กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่มีมากถึง 47.3% สาเหตุจากยังมีสุขภาพยังแข็งแรง หรือยังมีแรงทำงาน มีอีก 44.6% ต้องการหารายได้เพิ่มเพื่อเลี้ยงครอบครัว หรือเลี้ยงตนเอง
ผลสำรวจ เปิดเผยว่า ในปี 2564 ผู้สูงอายุคนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีมากถึง 34% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ พบว่า 32.4% มาจากการทำงาน มี 32.2% มาจากบุตรและ 19.2% มาจากเบี้ยยังชีพ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุราว 41.4% มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท หากแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุตามรายได้ต่อปี พบว่ามากกว่า 78.3% มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี