ตลาดซื้อขายทองคำโลก นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2024 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ปิดที่ 2,376.39 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -6.33 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -0.2% ส่งผลหยุดราคาทองคำปิดขึ้น 2 วันติดกันรวม +45.85 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +1.7% ขณะที่ราคาสูงสุดระหว่างวันในวันศุกร์ที่ 12 เมษายนผ่านมาพุ่งขึ้นแตะระดับ 2,431.29 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติสูงสุดระหว่างวันเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่
ขณะที่ราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ระดับ 2,388.40 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ลดลง -19.40 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -0.8% ส่งผลหยุดราคาทองคำปิดขึ้น 2 วันติดกันรวม +24.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +1.4%
ในสัปดาห์ผ่านไป ราคาทองคำปิดเพิ่มสูงขึ้นถึง +1% และยังเป็นราคาทองคำรายสัปดาห์ที่ปิดขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ต่อเนื่อง ส่งผลทำสถิติราคาทองคำรายสัปดาห์ที่ปิดขึ้นยาวนานที่สุดในรอบ 1 ปี 3 เดือน หรือนับตั้งแต่ต้นปี 2023 เป็นต้นมา เมื่อจบเดือนมีนาคมผ่านไป ทองคำตลาดโลกพุ่งทะยาน 9% ทำสถิติทองคำรายเดือนที่ดีที่สุดในรอบ 3 ปี 8 เดือน หรือตั้งแต่กรกฎาคม 2020 นอกจากนี้ ราคาทองคำปิดขึ้น +8% ในไตรมาสที่ 2 ส่งผลเป็นราคาทองคำที่ปิดบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 อีกด้วย
สาเหตุจากนักลงทุนหันมาให้น้ำหนักกับโอกาสที่ลดน้อยลงมากในการลดดอกเบี้ยระยะสั้นในปีนี้ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ขณะนี้ ตลาดมองโอกาสการลดดอกเบี้ยดังกล่าวมีสูงถึง 71% จะเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนกันยายน หลังจากก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ขณะที่ นักลงทุนผ่อนน้ำหนักปัจจัยสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน โดยเฉพาะการติดตามท่าทีของอิสราเอลที่จะตอบโต้กลับอิหร่านหรือไม่ หลังจากเวลาผ่านมา 5 วันตั้งแต่อิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 เมษายนผ่านมา
ด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังจากตัวเลขยอดขายปลีกเดือนมีนาคมในสหรัฐเพิ่มขึ้นเหนือคาดการณ์ สะท้อนความกังวลว่าการลดดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐในปีนี้อาจล่าช้า ธนาคารยักษ์ใหญ่เริ่มทบทวนจำนวนครั้งที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลดน้อยลงกว่าที่คาดไว้ โดยมองว่าจะลดดอกเบี้ยเพียงไม่ถึง 2 ครั้งจากเดิมคาดว่าจะลด 3 ครั้งในปีนี้
สภาทองคำโลก หรือดับเบิลยูจีซี (WGC) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางจีนแผ่นดินใหญ่ซื้อทองคำแท่งอีก 160,000 เมตริกตันเข้าสะสมในทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเดือนมีนาคม 2024 นับเป็นเดือนที่ 17 ต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ธนาคารกลางอินเดีย ตุรกี คาซัคสถาน และอื่นๆ ในทวีปยุโรปตะวันออกเพิ่มการซื้อทองคำเข้าทุนสำรองระหว่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ ตัวชี้วัดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่เรียกว่า เฟดวอช์ท พบว่า โอกาสเริ่มปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงในเดือนกันยายนนี้อยู่ที่ 71%