นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การซื้อขาย ข้าว ครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์อันดี และสานต่อความร่วมมือทางการค้าข้าวอันยาวนานระหว่าง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ จะเดินหน้าเจรจาขายข้าวไทยต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไทยแล้ว ยังส่งผลดีต่อราคาข้าวไทยทั้งระบบอีกด้วย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ให้สำเร็จนั้น นับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการจัดหาข้าวส่งมอบต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ประกอบกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาในการพิจารณานำเข้าข้าวเป็นหลัก ดังนั้น ช่วงที่ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้แข่งขันในตลาดได้ยากขึ้น
“เชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย ได้ร่วมด้วยช่วยกัน และทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ช่วยกันขายข้าวไทย เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ เกษตรกร และอุตสาหกรรมข้าวไทย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ เดินหน้าเจรจาซื้อขายข้าวกับอินโดนีเซีย ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (นายโจโก วิโดโด) ได้หารือกันไว้ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน–ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เมื่อปลายปี 66 ที่ผ่านมา รวมถึงติดตามสถานการณ์ตลาดและราคาข้าวโลกอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ได้จัดคณะผู้แทนการค้า เดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ และขยายตลาดข้าวไทยในทุกรูปแบบ ทั้งการซื้อขายข้าวแบบ G to G ซึ่งเป็นการค้าข้าวเสริมจากการขายข้าวของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น P to G หรือ P to P ตามนโยบาย “รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ” กับประเทศคู่ค้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดข้าวไทย และตอกย้ำจุดยืนไทยในฐานะหนึ่งในผู้นำการส่งออกข้าวคุณภาพดี และเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของโลกต่อไป
ด้านนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เสริมว่า กระทรวงพาณิชย์ มีแผนจะบุกตลาดเดิม และตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดข้าวพรีเมียม (สหรัฐฯ เซเนกัล จีน ฮ่องกง ซาอุดีอาระเบีย) ข้าวขาว (ฟิลิปปินส์ อิรัก ญี่ปุ่น มาเลเซีย) ข้าวนึ่ง (แอฟริกาใต้ เบนิน ไนจีเรีย บังกลาเทศ) และข้าวเพื่อสุขภาพ (สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานของข้าวไทย และผลักดันให้มีการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ขอชื่นชมสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสมาคมโรงสีข้าวไทย ที่ร่วมมือกันสนับสนุนข้อมูลด้านการผลิต การบริโภค การส่งออก และราคาข้าว ให้กระทรวงพาณิชย์ใช้ประกอบการพิจารณาขายข้าวที่เหมาะส มและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ภาคเอกชนไทยยังชนะการประมูลสำหรับการนำเข้าข้าวขาว 5% ของอินโดนีเซียกว่า 4 แสนตันอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าข้าวขาวไทยยังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ นอกเหนือจากข้าวหอมมะลิไทย และมีแนวโน้มที่จะมีคำสั่งซื้อข้าวชนิดดังกล่าวจากไทยเพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์ส่งออกข้าว ในปี 2567 (1 ม.ค. – 22 เม.ย.) ไทยส่งออกข้าวแล้ว 3.06 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 70,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.39% จากช่วงเดียวกันของปี 66 ที่ส่งออกได้ 2.48 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 45,975 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 53.82 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยตลาดที่ไทยส่งออกข้าวไปเป็นอันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย (680,099 ตัน) รองลงมา ได้แก่ อิรัก (353,100 ตัน) แอฟริกาใต้ (216,050 ตัน) เซเนกัล (120,140 ตัน) และฟิลิปปินส์ (116,925 ตัน) ซึ่งหากสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยยังมีทิศทางที่ดีเช่นนี้ โดยราคาข้าวไทยปรับตัวอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เช่นในปัจจุบัน รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาด และประชาสัมพันธ์ข้าวไท ยเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภค และการซื้อข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งปี จะทะลุเกินเป้าหมายที่ 7.5 ล้านตัน อย่างแน่นอน” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ