นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ภาคเอกชนมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทจะมีจำนวนแรงงานได้ประโยชน์ราว 7.5 ล้านคน จากส่วนต่างค่าจ้างเทียบกับปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 40 บาท จึงทำให้ภาคเอกชนต้องจ่ายเพิ่มขึ้นราว 300 ล้านบาทต่อวัน หรือคิดเป็นต้นทุนต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านบาท
ดังนั้น หากมีการเริ่มปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะทำให้ช่วงเวลาที่เหลือ 7 เดือนข้างหน้ามีเม็ดเงินราว 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระต้นทุนของเอกชนที่สูงขึ้นท่ามกลางกำลังซื้อในมือผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้น
ผลสำรวจจากผู้ประกอบการภาคเอกชน ยอมรับว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั้งประเทศนั้น 67.4% มองว่าเป็นการไม่เหมาะสม มีเพียง 32.6% ที่ยอมรับว่าเหมาะสม ที่สำคัญ ค่าแรงในบางจังหวัดที่ขึ้นมาอย่างสูงเช่นนี้ จะทำให้ต้นทุนด้านค่าแรงของเอกชนในบางจังหวัดสูงขึ้นกว่า 10% ทันที ขณะที่ภาระของภาคเอกชนจะขึ้นมาทันที ได้แก่ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ส่งผลให้เอกชนราว 64.7% จะปรับขึ้นราคาสินค้า และบริการ ประมาณ 15% ขึ้นไป และผู้ประกอบการราว 17.2% จะลดปริมาณหรือลดขนาด เนื่องจากผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับต้นทุนสูงขึ้น
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการกว่า 48.7% กังวลมากกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างกลับเท่าเดิม นอกจากนี้ การส่งผลต่อไปยังเงินเฟ้อมีแน่นอน โดยการปรับที่เหมาะสมคือ ต้องปรับตามความสามารถในการทำกำไรของแต่ละธุรกิจ โดย 3.1.3% พิจารณาจากต้นทุน มี 25.3% พิจารณากำหนดค่าจ้างลอยตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแรงงาน และ 18.2% ปรับขึ้นตามจีดีพีประเทศ