ราคาหมูในไทยถูกสุดในอาเซียน-จีนตอนใต้ สวนทางแห่ปิดเขียงหมูในตลาดสดลงเท่าตัว

ราคาหมู ในไทยถูกสุดในอาเซียน-จีนตอนใต้ สวนทางแห่ปิดเขียงหมูในตลาดสดลงเท่าตัว

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลราคาสุกรขุนในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนตอนใต้ โดยข้อมูลถึงวันที่ 16 เมษายน 2567 พบว่า กัมพูชา 80-85 บาท/กก.เวียดนาม 82-85 บาท/กก. สปป.ลาว 73-78 บาท/กก. และจีนตอนใต้ 75-82 บาท/กก. ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศไทยมีราคาถูกที่สุดในอาเซียนและจีนตอนใต้ทั้งๆที่สมาคมฯ ปรับขึ้นราคาครั้งสุดท้ายเมื่อวันพระที่ 23 เมษายน 2567 โดยเพิ่มขึ้น 4 บาท/กก. ส่งผลราคาหมูในแต่ละภูมิภาค มีดังนี้ ภาคตะวันตก จาก 68 เป็น 72 บาท/กก. ภาคตะวันออก จาก 74 เป็น 72-78 บาท/กก. ภาคอีสาน จาก 74 เป็น 74-76 บาท/กก. ภาคเหนือ จาก 75 เป็น 75-78 บาท/กก. และภาคใต้ จาก 70 เป็น 74 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม นายอภิชาติ พคพงษ์พันธ์ อายุ 60 ปี มีอาชีพพ่อค้าเขียงหมูในตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง ยอมรับว่า ทุกวันนี้ มีแผงหมูเปิดขายเหลือเพียง 3-4 แผงจากเดิมเคยเปิดขาย 6-8 แผง ที่ต้องปิดแผงลงไปมาก เพราะราคาหมูในประเทศไทยปรับสูงขึ้น 2 ครั้ง ในกลางเดือนเมษายน ราคาหมูปรับขึ้นเป็น 160 บาท/กิโลกรัม รอบที่ 2 เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ราคาหมูขึ้นอีกแตะ 180 บาท/กิโลกรัม ปัจจุบันราคาขายส่งหมูเป็นหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท กลายเป็นต้นทุนที่สูงมากตั้งแต่มีอาชีพขายเนื้อหมูมา 30 ปี ทำให้ขายยากและไม่สามารถปรับขึ้นตามแผงหมูที่ไปส่งตามแผงหมูได้ ทุกวันนี้ ต้องแบกรับต้นทุนขายส่งในราคาเดิมที่กิโลกรัมละ 160 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ต้นทุนการผลิตสุกรโลกมีแนวโน้มปรับลดลง ตามทิศทางราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ราคาสุกรในกลุ่มผู้ผลิตรายสำคัญของโลกมีแนวโน้มปรับลดลง ไม่ว่าจะเป็นจีน บราซิล เดนมาร์ก สะท้อนได้จากราคาสุกรเฉลี่ยในกลุ่มประเทศดังกล่าว ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ปรับลดลงราว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

สำหรับในประเทศไทย ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสุกร มีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลก โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลีและปลาป่น ช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อการผลิตสุกรลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตสุกรยังกลับมาไม่เต็มที่ สะท้อนจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ระบุว่า ในปี 2566 ปริมาณผลผลิตสุกรอยู่ที่ 17.5 ล้านตัว แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.8 ล้านตัว แต่ปริมาณผลผลิตยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโรคระบาด ASF ซึ่งจะเฉลี่ยอยู่ที่ 21-22 ล้านตัว โดยมีสาเหตุหลักมาจาก ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่จูงใจต่อการเพิ่มผลผลิตสุกร

โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอยู่ที่ 66 บาท/กก. หดตัว 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลต่อเนื่องมายังราคาขายปลีกเนื้อหมูเฉลี่ยในประเทศให้ยังคงปรับลดลงตาม โดยมีระดับราคาอยู่ที่ 164 บาท/กก. หดตัว 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ต้นทุนการผลิตสุกรอื่นๆ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้อีก อาทิ ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน เป็นต้น ด้วยต้นทุนการผลิตสุกรที่ยังคงมีความผันผวน ขณะที่ราคาขายสุกรยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่จูงใจต่อการเพิ่มปริมาณผลผลิตสุกรของเกษตรกร สะท้อนจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ระบุว่า ในปี 2566 ต้นทุนการการผลิตสุกรอยู่ที่ 87.5 บาท/กก. ขณะที่ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอยู่ที่ 78.0 บาท/กก. ส่งผลให้ผลตอบแทนสุทธิของเกษตรกรขาดทุนราว 9.5 บาท/กก.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2567 ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอาจอยู่ที่ 70 บาท/กก. หดตัว 10.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 78 บาท/กก. ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้คาดว่าราคาขายปลีกเนื้อหมูโดยเฉลี่ยในประเทศน่าจะยังลดลง โดยอาจอยู่ที่ 166 บาท/กก. หดตัว 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่ 177 บาท/กก. สถานการณ์ข้างต้น จึงกระทบทิศทางการผลิตสุกรในประเทศ โดยเฉพาะการกลับมาเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายย่อย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles