นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตและเจ้าของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่า กล่าวว่า กรณีกระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ พบว่า มีผลกระทบต่อการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปน้อยมาก เพียงประมาณ 1% ซึ่งถือว่าไม่ผลให้ต้องเสนอขอขึ้นราคาขายต่อกรมการค้าภายใน รัฐบาลได้ทยอยประกาศออกมา ตรงนี้ทำให้ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการใช้เวลาปรับตัว ในส่วนของบริษัทฯ นั้น ปรับขึ้นค่าแรงให้พนักงานเมื่อเดือนมกราคมของทุกปีอยู่แล้ว โดยขึ้นเฉลี่ยปีละ 5-6 บาท
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ในแง่กระทบกับบริษัทฯ กลับมีเพียงเล็กน้อย ทุกวันนี้ ค่าแรงเป็นต้นทุนทางตรงของบริษัทฯ เพียง 10% ถ้าต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 10-15% ก็กระทบต้นทุนบริษัทแค่ 1% ในทางกลับกัน ต้องเร่งการผลิตและลดการสูญเสีย ขณะนี้ ผลิตบะหมี่แบบซองและถ้วยวันละ 7 ล้านชิ้น จะเพิ่มเป็นวันละ 8 ล้านชิ้น โดยที่คนไม่ได้เพิ่ม เท่ากับค่าแรงต่อการผลิตจึงไม่มีผลมากมาย
ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีเศรษฐกิจต่างกัน มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งก็จะเป็นประเทศเล็กๆ และการปรับค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน จะทำให้มีบางจังหวัดมีค่าจ้างจะขึ้นแบบกระชาก เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่วันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 330 บาท ก็จะกระชากขึ้นมากว่า 20% ผู้ประกอบการก็จะอยู่ไม่ได้ ตาย-เจ็งแน่นอน
อีกปัจจัยที่ต้องคิด หากค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ การลงทุนจะกระจุกตัวในเมือง ไม่กระจายไปต่างจังหวัด เพราะผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าขนส่งที่สูงกว่าการลงทุนในเมือง และยังเสี่ยงต่อการย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ยังใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 70% เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป สิ่งทอ เพราะจะแข่งขันลำบาก ซึ่งวันนี้ปัญหาสินค้าจีนราถูกทะลักเข้ามาตีตลาด ก็ยังแก้ไม่ตก ทำให้ผู้ผลิตไทยอยู่ยากขึ้น ซึ่งการขึ้นค่าแรง อาจมองได้ว่า ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในระยะสั้นก็จริง แต่ระยะยาวจะทำให้สินค้าแพงขึ้น ประชาชนจะซื้อไม่ไหว และปัญหาก็จะวนกลับมาสู่วงจรการปรับค่าแรงอีก เป็นวงเวียนไม่สิ้นสุด