สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานว่า ด่านโหย่วอี้กวนหรือด่านมิตรภาพบนพรมแดนจีน-เวียดนามที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน มีการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรกปีนี้รวม 48,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,850 ล้านหยวน (ราว 9,250 ล้านบาท) โดยอันดับ 1 เวียดนามส่ง 35,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,280 ล้านหยวน (ราว 6,400 ล้านบาท) อันดับ 2 ไทย 13,000 ตัน ลดลงร้อยละ 59.5 คิดเป็นมูลค่า 570 ล้านหยวน (ราว 2,850 ล้านบาท) แต่กลับลดลงร้อยละ 63.5 เมื่อเทียบปีต่อปี
ด่านโหย่วอี้กวนเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดในการนำเข้าทุเรียนและจุดสังเกตกระแสการบริโภคทุเรียนของตลาดจีน ปริมาณทุเรียนที่นำเข้าผ่านด่านนี้คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของจีน ข้อมูลการบริโภคทุเรียนของตลาดจีนชี้ว่า สถานะผู้นำของทุเรียนไทยในตลาดจีนกำลังสั่นคลอน โดยต้องเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือดจากแหล่งผลิตทุเรียนที่พัฒนาทีหลังอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียด้วย
คนวงในอุตสาหกรรมมองว่าปริมาณทุเรียนสดนำเข้าจากไทยที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนล่าช้ากว่าปกติ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่นไทยส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียน ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งและโลจิสติกส์
ผู้บริหารบริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชันแนล โลจิสติกส์ ผู้นำเข้า ทุเรียนรายใหญ่ เผยว่า ช่วงก่อนปี 2023 บริษัทฯ นำเข้าทุเรียนจากไทยเท่านั้น แต่หลังปี 2023 นำเข้าทุเรียนไทยและทุเรียนเรียดนามอย่างละครึ่ง ตามความต้องการของผู้บริโภคในจีน โดยเวียดนามได้เปรียบจากระยะทางขนส่งสั้น มีความเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง และต้นทุนต่ำกว่า ขณะที่ไทยยังทำแบบครัวเรือน โดยตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 เป็นต้นมา ทุเรียนไทยเริ่มครองส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง
ด้านนักวิชาการ หูเชา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยเป็นสัดส่วนสูงสุด แต่เวียดนามกำลังชิงส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความชอบทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันอาจทำให้ทุเรียนบางสายพันธุ์ขาดตลาดในระยะสั้น ซึ่งจุดนี้ทุเรียนอีกสายพันธุ์จะเข้ามาทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
ด่านเวียด ซึ่งเป็นสื่อทางการเวียดนาม รายงานอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานศุลกากรจีนว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดรวมทั้งสิ้น 53.110 ตันใน 2 เดือนแรกปีนี้ มูลค่า 283.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 10,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% ในด้านปริมาณ แต่มูลค่าลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023 ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนเวียดนามในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 57% ในปีนี้ จากเดิม 32% ในปี 2566
เวียดนามมีผลผลิตทุเรียนที่อุดมสมบูรณ์ สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลที่ทุเรียนไทยไม่มีออกมา ทำให้ทุเรียนเวียดนามไร้คู่แข่งขัน นอกจากนี้ อีกข้อได้เปรียบคือ ความใกล้ตลาด ทุเรียนเวียดนามเมื่อส่งออกไปยังประเทศจีน สามารถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งราคาก็สามารถแข่งขันได้ เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน 422 แห่ง และโรงงานบรรจุภัณฑ์ทุเรียนสด 153 แห่งทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าเวียดนามมีความพร้อมที่จะส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนอย่างมาก