นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาคผลิตไทยปี 2567 ว่า น่าเป็นห่วง เห็นได้จากตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) เดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.45% โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าภาคผลิตไทยกำลังมีปัญหา
โดยสาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาการทะลักของสินค้าต่างประเทศ ทั้งกลุ่มที่ถูกกฎหมายแต่ราคาถูกมากเพราะไร้มาตรฐาน และกลุ่มที่เข้ามาแบบผิดดฎหมาย เรื่องนี้ส.อ.ท.ได้สะท้อนกับปัญหาต่อรัฐบาลมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพราะกระทบต่อการผลิตของอุตสาหกรรมไทยมากถึง 22 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอะลูมิเนียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งรัฐบาลได้รับเรื่องไปช่วยแก้ปัญหาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปีนี้จากการติดตามสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ อาทิ จีน พบว่ายังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ผลิตของจีนทั้งโอเวอร์ซัพพลายและโอเวอร์คาพาซิตี้ และถูกกีดกันจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป สินค้าจึงกระจายมายังอาเซียน ดังนั้นอยากให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยกระทรวงการคลังควรเพิ่มมาตรการความเข้มข้นในการตรวจสินค้านำเข้าก่อนถูกกระจายไปยังผู้บริโภค เพราะหากปล่อยไว้ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น กังวลว่าอาจกระทบเพิ่มมากกว่า 30 อุตสาหกรรม สิ่งนี้จะกระทบต่อการจ้างงาน สภาพธุรกิจ จนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในที่สุด
นายเกรียงไกร กล่าวว่า อยากให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ดำเนินการบริหารเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน คือ เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ให้เงินเข้าระบบเศรษฐกิจและเกิดการหมุนเวียนจริงๆ ขณะเดียวกันก็อยากให้ปกป้องสินค้าไทยจากการตีตลาดจากสินค้าต่างประเทศ เพราะหากปล่อยให้ทะลักเข้ามาในไทยจำนวนมาก สุดท้ายเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจถูกใช้จ่ายไปกับสินค้าที่ไม่ได้ผลิตโดยคนไทย กลายเป็นผลกระทบที่รุนแรง เพราะเศรษฐกิจไม่ขับเคลื่อน ขณะที่อุตสาหกรรมหลายกลุ่มอาจต้องทยอยปิดตัวลง ขณะเดียวกันในช่วงของการเร่งใช้งบประมาณ 2567 อยากให้การจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐเน้นการใช้สินค้าจากผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี แทนการใช้สินค้าต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ส.อ.ท.ทำงานร่วมกับภาครัฐมาหลายปี ภาครัฐมีรายชื่อผู้ผลิตเอสเอ็มอีไทยในมืออยู่แล้ว หากดำเนินการจะทำให้เอสเอ็มอีไทยมีรายได้ เติบโต เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยทั้งปี