คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ( กกร. ) ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 67 มาที่ 2.2-2.7% เนื่องจาก มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม จากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ตามทิศทาง การค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกัน ยังปรับลดประมาณการเงินเฟ้อมาที่ 0.5-1%
โดยกกร.มองว่า การค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลด คาดการณ์การค้าโลกปี 67 จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% เหลือ 3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกของประเทศ Emerging Markets จากเดิมโตได้ 4.1% เหลือ 3.7%
จากการที่ IMF ประเมินว่า ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย–ยูเครน และอิสราเอล–อิหร่าน ที่ยกระดับขึ้นจะกระทบต่อ ปริมาณการค้าโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัญหาเชิงโครงสร้างและการค้าโลกที่เติบโตได้จำกัด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก
ขณะเดียวกันยังมีเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1. ความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลง ของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ และ 2. การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ดังนั้นจึงมองว่ารัฐควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญรวมถึงการมีมาตรการสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ