นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) เปิดเผยว่า ขณะนี้จำนวนบ้านเกิดใหม่เพิ่มขึ้นตลอด แต่จำนวนประชากรกลับเพิ่มขึ้นน้อยมาก และเริ่มจะลดลงทำให้เกิดปัญหาบ้านว่าง จนถึงขณะนี้ประมาณ 1.3 ล้านหน่วย รวมมูลค่า 2.6 ล้านล้านบาท โดยบ้านว่างเหล่านี้บางส่วนมีผู้ใช้สอยเช่นกัน แต่น้อยมาก เช่น ใช้ไฟฟ้าเพียงไม่ถึง 15 หน่วยต่อเดือน อาจจะเข้ามาทำความสะอาดเป็นครั้งคราว ยิ่งกว่านั้นยังมีบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่แม้แต่มิเตอร์ไฟฟ้าก็ถูกถอดทิ้งไปแล้ว
อย่างไรก็ตามบ้านว่างคงไม่ได้หมายเฉพาะถึงบ้านร้าง หรือบ้านที่ถูกทิ้งร้างไว้โดยไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัยมานาน แบบ “บ้านผีสิง” หรือซากของอาคาร เพราะส่วนใหญ่เพียงแต่ปิดทิ้งไว้เท่านั้น
“จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าในเขตบริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ มีบ้านว่างอยู่ประมาณ 500,000 หน่วย แต่หากนับรวมทั้งเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมบางส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย จะมีบ้านว่างรวมกันถึง 617,923 หน่วย ถือว่ามีจำนวนมากทีเดียว ทั้งนี้ บ้านทุกประเภทในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่ 4,654,370 หน่วย จึงเท่ากับว่าบ้านว่างมีสัดส่วนถึง 13.3% ของบ้านทั้งหมด หรือบ้านทุกๆ 8 หน่วยจะมีบ้านว่างอยู่ 1 หน่วย นับว่าสูงมาก” นายโสภณกล่าว
นายโสภณกล่าวว่า ยิ่งหากพิจารณาจากขอบเขตทั่วประเทศ ประมาณการว่าจะมีบ้านว่างรวมกันถึง 1,309,551 หน่วย จากที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจำนวน 27,708,635 หน่วย หรือประมาณ 4.7% นั่นหมายความว่าในทั่วประเทศมีบ้านว่างอยู่ประมาณ 1 หลังในทุกๆ 21 หลัง อย่างไรก็ตามจำนวนบ้านว่าง 1,309,551 หน่วยในไทยนี้ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น โดยข่าวจาก Nikkei รายงานว่ามีบ้านว่างอยู่ 8.5 ล้านหน่วย จากทั้งหมด 80 ล้านหน่วย เป็นสัดส่วนบ้านว่างถึง 10% หรือมากกว่าไทยถึง 6 เท่า ญี่ปุ่นมีประชากร 125 ล้านคน แสดงว่าบ้านแต่ละหลังมีคนอยู่เพียง 1.56 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในกรณีกรุงเทพฯ และจังหวัดโดยรอบ บางส่วนในเขตบริการไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าในเดือนมกราคม 2564 มีบ้านว่าง 525,889 หน่วย แต่ในเดือนมกราคม 2565 บ้านว่างกลับลดลงเหลือ 505,062 หน่วย แสดงว่าสถานการณ์ไม่ได้ย่ำแย่ลง แต่กลับดีขึ้นที่มีผู้กลับมาใช้สอยบ้านว่างมากขึ้น
“เมื่อคิดจำนวนบ้านว่าง 1.3 ล้านหน่วย หากราคาเฉลี่ยหน่วยละ 2 ล้านบาท เท่ากับมีมูลค่ารวมกัน 2.6 ล้านล้านบาท หรือเกือบเท่างบประมาณแผ่นดินไทย หากปีหนึ่งเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ทั่วประเทศ 200,000 หน่วย เท่ากับว่าแทบไม่ต้องเปิดโครงการใหม่ 6 ปี ยังมีอุปทานที่อยู่อาศัยเพียงพอแก่ผู้สนใจซื้อ การปล่อยบ้านว่างทิ้งไว้เฉยๆ โดยที่กระบวนการขายทอดตลาดค่อนข้างไม่มีประสิทธิภาพ เท่ากับปล่อยให้ที่อยู่อาศัยเหล่านี้เป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ” นายโสภณกล่าว
นายโสภณกล่าวว่า ดังนั้นแนวทางการแก้ไขคือควรประเมินค่าทรัพย์สินบ้านเหล่านี้ตามสภาพในราคาตลาด เช่น หากเฉลี่ยหน่วยละ 2 ล้านบาท ก็เก็บภาษีปีละ 2% หรือ 40,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของมาใช้สอย หรือขายเพื่อเพิ่มอุปทานในตลาดให้แก่ผู้สนใจซื้อ เมื่อมีอุปทานเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ราคาบ้านจะไม่สูงจนเกินไป ความสามารถในการซื้อบ้านของประชาชนจะไม่ได้ผลกระทบ
นอกจากนี้ หากบ้านหลังใดไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่ได้เสียภาษีมานาน 3 ปีต่อกัน รัฐบาลควรที่จะนำบ้านมาประมูลขาย เพื่อนำเงินมาเสียภาษีที่ติดค้างไว้ และหากไม่สามารถหาเจ้าของได้ในขณะนั้น เมื่อขายแล้วนำเงินไปฝากที่สถาบันการเงิน เพื่อให้เจ้าของ (ถ้ามี) มารับในภายหลัง รัฐบาลของมหาชน จะปล่อยให้คนบางกลุ่มเก็บทรัพย์ไว้เก็งกำไรโดยไม่เสียภาษีไม่ได้ ทั้งนี้ บ้านว่างเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติที่ควรนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อสังคมส่วนรวม