นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 พฤษภาคม (วันนี้) ตัวแทนหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเดินทางไปกระทรวงแรงงานเพื่อยื่นเอกสารความคิดเห็นดังกล่าวต่อนายพิพัฒนา จากภาคเอกชน โดยหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น จากเดิมเข้าร่วม 54 สมาคม โดยขณะนี้มีสมาคมการค้าธุรกิจร่วมแสดงเจตจำนงเพิ่มเติมจาก 54 สมาคม เป็น 87 สมาคม เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท เป็นอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ
โดยก่อนหน้านี้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดรับความคิดเห็นจากสมาคมธุรกิจ องค์กรภาคเอกชน รวมถึงแสดงความจำนงคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศ โดยเปิดรับถึงวันที่ 12 พฤษภาคม เพื่อนำความคิดเห็น ผลกระทบ และข้อเสนอ ยื่นต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีในวันที่ 14 พฤษภาคม
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า นโยบายขึ้นค่าแรงมีเวลาทำ 2-3 ปี ดังนั้น ไม่ต้องรีบปรับขึ้นพร้อมกัน ควรทำเป็นเลเยอร์ๆ และทำในพื้นที่ไหนจังหวัดไหนพร้อมก็เริ่มก่อน รวมถึงทยอยกระจายปรับขึ้นในพื้นที่อื่นๆ พร้อมกับให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ด้วย
อย่างไรก็ตามภาคเอกชนและหอการค้าต้องเรียกร้องให้ตรงกันว่าปัญหาคืออะไร โดยหากมองย้อนกลับไปตอนที่ปรับค่าแรง 300 บาทก็ถือว่าไม่ตอบโจทย์ ตอนนี้ข้อมูลยังมีน้อย ภาคธุรกิจเลยยังไม่มีข้อมูลไปอธิบายรัฐบาลว่า ควรหรือไม่ควรปรับค่าแรงอย่างไร ดังนั้นอยากให้จังหวัดต่างๆ รวบรวมข้อมูลว่าถ้าขึ้นค่าแรงจะได้รับผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะผู้ประกอบการจังหวัดขนาดเล็กลำบากแน่ หากขึ้นค่าแรงพร้อมกันทั่วประเทศ