นางสาวนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงิน บัญชีและบริหารความเสี่ยงบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เปิดเผยว่า การบริโภคภาคเอกชนของไทยถูกขับเคลื่อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น โครงการ Easy E-Receipt อีกทั้ง ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแน้วโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และความชัดเจนในมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจแบบผสมหรือมิกซ์ยูส เป็นจุดแข็งของบริษัท ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่พักอาศัยที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 12,234 ล้านบาท โต 19% และกำไรสุทธิ 4,154 ล้านบาท โต 28% จากปีก่อน
สำหรับกิจกรรมทางธุรกิจที่สำคัญในไตรมาส 1 ได้เปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ และเซ็นทรัล นครปฐม พร้อมโครงการ คอนโดมิเนียมเอสเซ็นท์ นครสวรรค์ และนครปฐม ในวันเดียวกับการเปิดตัวศูนย์การค้า และทั้ง 2 โครงการ ได้รับการตอบรับที่ดี ยังได้เปิดตัวโครงการบ้านนิรดา วงแหวน–เอกชัย ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาอีกด้วย ในปีหน้าจะเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัล กระบี่
ทั้งนี้ บริษัทยังคงวางแผนระยะยาวในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตามแผน 5 ปี ตั้งแต่ 2567-2571 ลงทุนทั้งสิ้น 121,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2567 จะมีเปิดให้บริการใหม่ทั้งสิ้น 13 โครงการ นอกจากเซ็นทรัล นครสวรรค์ และนครปฐมแล้ว ยังมีโครงการที่อยู่อาศัย 10 โครงการ และโรงแรมแห่งใหม่ที่ระยอง พร้อมเตรียมสร้างปรากฏการณ์ระดับโลก “The World’s New Magnitude” ขยายย่านการค้าและธุรกิจในกรุงเทพฯ อีกหลายมุมเมือง เหมือนโมเดลเมืองใหญ่ทั่วโลก โดยพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส 5 โครงการ มีพื้นที่ทุกโครงการรวมกันกว่า 2.2 ล้าน ตร.ม. และทั้งหมดนี้ อยู่บนซุปเปอร์ไพร์มโลเกชั่นรอบกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนถนนใหญ่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า แต่ละโครงการจะเป็นแฟลกชิปและแลนด์มาร์ก ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก จะเปิดโครงการแรกคือ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ในส่วนอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าเซ็นทรัลพาร์คในปี 2568
โดย สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีศูนย์การค้าภายใต้การบริหารงานทั้งหมด 42 โครงการ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 16 โครงการ ต่างจังหวัด 23 โครงการ และในมาเลเซีย 1 โครงการ, ศูนย์การค้าเอสพละนาด 1 แห่ง และศูนย์การค้าเมกา บางนา ภายใต้กิจการร่วมค้าอีก 1 แห่งคอมมูนิตี้ มอลล์ 17 โครงการ มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวม 2.3 ล้านตร.ม. ยังบริหารศูนย์อาหาร 35 แห่ง อาคารสำนักงาน 10 อาคาร โรงแรม 9 แห่ง โครงการที่พักอาศัย 36 โครงการ
นอกจากนี้ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 กองทรัสต์ CPNREIT ประสบความสำเร็จในเพิ่มทุนและต่อสัญญาโครงการเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ตามแผนเรียบร้อยแล้ว โดย CPNREIT ได้ออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนทั้งหมด 1,053 ล้านหน่วย ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย 10.20 บาท ให้กับผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิม และประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน 2567 ได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ และได้รับเงินเพิ่มทุนทั้งสิ้น 10,741 ล้านบาท รวมกับเงินกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอีกบางส่วน นำไปลงทุนต่อสัญญาสิทธิการเช่าโครงการเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า อีก 15 ปี มูลค่าทั้งสิ้น 12,161 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567