‘สุริยะ’สั่งหน่วยงานคมนาคมเตรียมพร้อมรับมือเปิดเทอม เข้มงวดความปลอดภัย การจราจร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการ และมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับมือเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เพื่ออำนวยความสะดวก และบริการด้วยความปลอดภัยให้กับนักเรียน และผู้ปกครอง และให้เพียงพอต่อการเดินทาง รวมถึงบริหารการจราจรในโครงข่ายคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครปริมณฑล และต่างจังหวัดด้วย โดย ได้มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริหารจัดการในการเดินรถ เพื่อรองรับการเปิดเทอม แบ่งออกเป็น 3 ด้านได้แก่

1.ด้านการเดินรถ โดยจัดให้มีรถวิ่ง 17,500 เที่ยว/วัน (โดยประมาณ) พร้อมทั้งเตรียมรถไว้ให้บริการจำนวน 2,400 คัน อีกทั้งให้เพิ่มความถี่การเดินรถในชั่วโมงเร่งด่วน แบ่งเป็น ในช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 05.00-08.00 . ระยะความถี่เฉลี่ย 7-12 นาทีต่อคัน และในช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 15.00-17.00 . ระยะความถี่เฉลี่ย 10-15 นาทีต่อคัน รวมถึงเพิ่มการเดินรถบางช่วงที่มีความต้องการในการเดินทางสูง

2.ด้านความปลอดภัยในการให้บริการ โดยจัดให้มีนายตรวจพื้นที่ และสายตรวจพิเศษ พร้อมทั้งหัวหน้างานผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ เพื่ออํานวยความสะดวกและ ความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ บริเวณหน้าโรงเรียนสถานศึกษา และจุดเชื่อมต่อการเดินทาง อาทิเช่น รถเมล์รถไฟฟ้า หรือ เรือรถเมล์ ให้บริการมากกว่า 20 จุด ในบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, เดอะมอล์บางกะปิ, แยกบางนา, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, สวนจตุจักร, ตลาดมีนบุรี, ใต้ทางด่วนสาธุประดิษฐ์, แยกลำสาลี, ตลาดคลองเตย เป็นต้น

3.ด้านความพร้อมของรถเมล์, พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร โดยกําชับ บริษัทผู้บํารุงรักษาให้ดําเนินการตรวจสอบสภาพรถเมล์ ให้มีความพร้อมก่อนออกให้บริการ เพื่อรองรับการให้บริการ ช่วงเปิดเทอม และเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูฝน อีกทั้งกําชับการตรวจร่างกาย เพื่อความพร้อมของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารก่อนออกให้บริการทุกวัน รวมถึงกําชับพนักงานขับรถ ให้จอด รับส่งผู้โดยสารบริเวณจุดจอดป้ายรถเมล์เท่านั้น และกําชับให้พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ตรวจสอบความปลอดภัยการขึ้นลง รถของผู้โดยสาร ก่อน เปิดปิดประตู และออกเดินรถ

ขณะเดียวกันยังได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดผู้ตรวจการคอยกำกับดูแลความเรียบร้อยในบริเวณป้ายรถประจำทางใหญ่ รวมทั้งบริเวณโรงเรียน และสถานศึกษาที่มีการจราจรหนาแน่น สำหรับการนำรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งในลักษณะรถสองแถว และรถตู้มาใช้รับส่งนักเรียน กำหนดให้ต้องผ่านการรับรองจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา และต้องขออนุญาตใช้รถให้ถูกต้อง นำรถเข้าตรวจสภาพตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ทางราชการกำหนด รวมถึงภายในรถต้องมีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุ ห้ามดัดแปลงสภาพรถ ห้ามเพิ่มเบาะที่นั่งหรือการต่อเติมกระบะท้ายเพื่อให้รับนักเรียนได้มากเกินจำนวนบรรทุกที่ปลอดภัย

ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดเดินรถไฟฟ้าให้เพียงพอ และอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมทั้งตรวจเช็ครถทุกขบวนให้สามารถพร้อมให้บริการ ทั้งในส่วนของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน), สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง), สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) และ MRT สายสีชมพู รวมถึงรถไฟชานเมืองสายสีแดงของบริษัท รถไฟฟ้า ร... จำกัด (รฟฟท.) ด้วย

สำหรับมาตรการรองรับนั้น รฟม. ได้ร่วมกับ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน ใช้บัตรโดยสารรถไฟฟ้า MRT ประเภทบัตรนักเรียน/นักศึกษา เพื่อรับส่วนลดค่าเดินทาง และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ พร้อมกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร จัดเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอำนวยความสะดวกในการใช้บริการทุกแห่ง ประกอบกับจัดรถไฟฟ้าขบวนเสริมเพื่อรองรับกรณีที่มีผู้ใช้บริการมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ให้เร่งดำเนินการคืนพื้นผิวจราจรตามแนวสายทางของรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง และสายสีชมพูให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบันยังมีการดำเนินงานตามโครงการของหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่นๆ อยู่ในบางพื้นที่ และอาจส่งผลกระทบต่อผู้สัญจรทางถนน พร้อมทั้งตรวจสอบสภาพถนนตามแนวทางให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้สัญจร

ขณะที่ กรมเจ้าท่า (จท.) มอบหมายให้จัดผู้ตรวจการประจำท่าเรือทุกท่าเรือ กำกับดูแลความปลอดภัยของเรือโดยสารไม่ให้บรรทุกผู้โดยสารเกิน ซึ่งจะมีเด็กนักเรียนเพิ่มเข้ามาอีกจำนวนมาก รวมทั้งความมั่นคงแข็งแรงของท่าเรือ และโป๊ะเรือบริเวณท่าเรือข้ามฟากและ เรือด่วนในบริเวณที่นักเรียนโดยสารทางเรือ ขณะเดียวกัน สั่งการให้สำรองเรือโดยสารเพิ่มเติมในกรณีผู้โดยสารมีมากกว่าปกติ

ส่วนกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานขนส่งจังหวัด และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับตำรวจจราจรในพื้นที่ อำนวยความสะดวกการจราจร และความปลอดภัยแก่นักเรียนบริเวณหน้าโรงเรียนในเขตเมืองและเทศบาลในเขตความรับผิดชอบ พร้อมทั้งกำกับการจราจรบนทางพิเศษ และทางพิเศษระหว่างเมืองในเส้นทางหลักเข้าสู่กรุงเทพฯ อีกทั้ง จัดเจ้าหน้าที่ดูแลการจราจรบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางไม่ให้มีการจราจรแออัด นอกจากนี้ ในส่วนของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) อำนวยความสะดวกการเดินทางของเด็กนักเรียนที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles