แกร็บ จับมือภาครัฐ เอกชนชู TRAVEL ตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับการท่องเที่ยวภูมิภาค

แกร็บ ประเทศไทย” ได้จัดงานเสวนาเชิงนโยบายประจำปี “GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรม “นักท่องเที่ยวยุคใหม่

โดย วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากแกร็บให้บริการในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี ได้เข้าไปมีบทบาทในการเดินทางของนักท่องเที่ยว เช่น บริการเรียกรถ (GrabCar) พบว่ามีลูกค้า “ชาวต่างชาติ” ใช้บริการมากเกือบ 50% ของจำนวนการเรียกรถทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่านักท่องเที่ยวเรียกรถไป “สนามมวย” เพิ่มขึ้น 150% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวสั่ง “อาหารไทย” ผ่านแกร็บฟู้ด (GrabFood) มากขึ้น 130% และนักท่องเที่ยวสั่งของจาก “ร้านค้าชุมชน” ผ่านแกร็บมาร์ท (GrabMart) เพิ่มขึ้น 100% โดยสินค้าติดอันดับขายดีในช่วงนี้คือ “กางเกงช้าง ทุเรียน และมะม่วง

ด้านยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านแกร็บจะมากกว่าคนไทย 2 เท่า เพราะมีดีมานด์ด้านบริการที่มากกว่า เช่น ต้องการรถคันใหญ่กว่า ทั้งนี้เมื่อดูจากภาพรวมการใช้บริการผ่านแกร็บของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงโลว์ซีซัน (เม..-..) ปัจจุบันพบว่ากราฟแทบไม่ตกท้องช้างเลย ต่างจากปกติที่กราฟจะตกท้องช้างชัดเจนในช่วงโลว์ซีซันหลังเพิ่งผ่านไฮซีซันไป

วรฉัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะแกร็บเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มีความแข็งแกร่งด้าน “อีโคซิสเต็ม” (Ecosystem) ที่ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ประเทศ มาเติมเต็มและสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ ได้วางกลยุทธ์ “T.R.A.V.E.L.” ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและมหภาค พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

กลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ประกอบด้วย 6 ประเด็น ได้แก่ 1.Technology Integration การนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว จากเทรนด์นักท่องเที่ยว “กลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง” (FIT) ครองสัดส่วน 87% ของนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยทั้งหมด และกว่า 53% จองทริปและวางแผนการเดินทางออนไลน์ แกร็บจึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมารองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทางไปจนถึงการอำนวยความสะดวกระหว่างการท่องเที่ยว

2.Reliability & Safety การสร้างความเชื่อมั่นเรื่อง “ความปลอดภัย” ให้กับนักท่องเที่ยว เพราะความปลอดภัยคือปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พักหรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างๆ แกร็บจึงได้ยกระดับความปลอดภัยผ่านการพัฒนา 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย มาตรการด้านความปลอดภัย และการจัดแคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย

3.Accessibility การส่งเสริมการเดินทางเพื่อเข้าถึง “เมืองหลัก” และ “เมืองรอง” สอดรับกับเทรนด์นักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาสนใจเดินทางไปยังเมืองรองมากขึ้น สะท้อนจากรายได้การท่องเที่ยวเมืองรองในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 38% แกร็บจึงมุ่งสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อ ด้วยบริการเรียกรถที่มีให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ทั้งยังได้ผนึกความร่วมมือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลักทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

4.Valuable Experience การสร้าง “ประสบการณ์การเดินทาง” ที่น่าจดจำ ความเป็นเลิศในด้านการบริการที่สอดแทรก “เสน่ห์ความเป็นไทย” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดและพิชิตใจนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แกร็บจึงได้พัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ตเนอร์คนขับผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการ แกร็บ อะคาเดมี (GrabAcademy) ครอบคลุมทั้งในด้านมาตรฐานการให้บริการ การสื่อสารภาษาต่างประเทศเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังได้ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้พิเศษยิ่งขึ้นผ่านบริการแกร็บคาร์พรีเมียม (GrabCar Premium) ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมอบความสะดวกสบายสุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับนักท่องเที่ยวในทุกการเดินทาง

5.Environment Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ “รักษ์โลก” การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ จากการสำรวจพบว่ากว่า 90% ของนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน แกร็บจึงนำเสนอตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโครงการ แกร็บ อีวี (Grab EV) ส่งเสริมให้พาร์ตเนอร์คนขับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการเรียกรถเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร และการพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาทต่อการเดินทาง หรือ 1 บาทจากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี 2566 แกร็บสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น และในปี 2567 ตั้งเป้าปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 150,000 ต้น

และ 6.Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส “ประสบการณ์ท้องถิ่น” การดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาพัฒนาเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยจากการสำรวจพบว่า 65% ของนักท่องเที่ยวให้ความสนใจที่จะมาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการไปเทศกาลประจำจังหวัดต่างๆ การได้ลิ้มลองอาหารพื้่นบ้าน หรือการอุดหนุนสินค้าชุมชน

ดังนั้น แกร็บในฐานะแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรายย่อยและพาร์ตเนอร์คนขับ จึงได้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น และวัฒนธรรมไทยในมิติต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจผ่านการทำหนังสือไกด์บุ๊ก Grab & Go ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) การโปรโมตอาหารไทยเมนูเด็ดจากร้านอาหารรายย่อยผ่าน GrabFood และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นฝีมือคนไทยผ่าน GrabMart เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น

เพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวบนเวทีเสวนาเกี่ยวกับประเด็น “การท่องเที่ยวยั่งยืน” ว่า ตามที่ “สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ” (IATA) ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 ทำให้ทุกสายการบินต้องปรับตัวครั้งใหญ่เป็น “สายการบินรักษ์โลก” โดยหลายประเทศในยุโรปได้กำหนดให้ใช้ “เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน” (SAF : Sustainable Aviation Fuel) มากขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ได้นำร่องกำหนดสัดส่วนการใช้น้ำมัน SAF ที่อัตรา 1% แล้ว

ปัจจุบันค่าน้ำมัน SAF แพงกว่าค่าน้ำมันอากาศยาน Jet A-1 ราว 3-5 เท่า ทางเอกชนสายการบินได้หารือกับรัฐบาลว่าควรเร่งเตรียมความพร้อมเรื่องการสนับสนุนสายการบินให้ใช้น้ำมัน SAF มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ได้อย่างแท้จริงตามเป้าหมายรัฐบาล เพราะบางสายการบินมีความจำเป็นต้องเติมน้ำมัน SAF สำหรับเที่ยวบินขากลับตามข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ ด้วย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles