นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาในงาน Thailand – France Business Forum ณ ศูนย์ประชุม L’Apostrophe กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ว่าได้นำคณะนักธุรกิจชั้นนำของไทยร่วมการเยือนในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีมาครง เพื่อต้องการสร้างเวทีให้ภาคเอกชนชั้นนำได้พบปะ เชื่อมโยง และร่วมงานกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่า งาน Thailand – France Business Forum จะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ทั้งนี้ ไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 3 ของฝรั่งเศสในอาเซียน ซึ่งเชื่อมั่นว่าในการนำของรัฐบาลไทยจะเป็นพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในภูมิภาคได้ ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศมีความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ในส่วนของความร่วมมือระดับประชาชน มีคนไทยราว 3 หมื่นคน อาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศส และมีชาวฝรั่งเศสราว 4 หมื่นคน อาศัยในประเทศไทย และไทยถือว่าเป็นประเทศลำดับ 2 ในเอเชียที่มี expats โดยส่วนของการท่องเที่ยว ปี 2566 ชาวฝรั่งเศสเดินทางไปไทยราว 2 แสน 7 หมื่นคน และมีนักท่องเที่ยวไทยไปฝรั่งเศสเกือบ 2 แสนคน
รัฐบาลไทยเพิ่งเปิดตัววิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” เพื่อยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลกใน 8 ภาคส่วน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหารและเกษตรกรรม การบิน การขนส่ง การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน ซึ่งวิสัยทัศน์นี้นำเสนอศักยภาพมากมายสำหรับภาคเอกชนฝรั่งเศสที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การขนส่ง (Logistics) รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับภูมิภาคอื่น ๆ โดยมี Mega Project อย่างโครงการ Landbridge เชื่อมโยงเส้นทางการค้าและการขนส่งจากมหาสมุทรแปซิฟิก เข้ากับมหาสมุทรอินเดีย และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเพิ่มความเชื่อมโยงด้านคมนาคมทั้งทางบกและทะเลกับภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้น
2. การบิน (Aviation) รัฐบาลต้องการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน ทั้งผู้โดยสารและสินค้า ผ่านการเร่งดำเนินแผนการสร้างสนามบินใหม่และปรับปรุงสนามบินเดิม พร้อมวางแผนพัฒนาการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Aviation Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินอย่างเต็มรูปแบบ โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้
3. ดิจิทัล ไทยมีอินเทอร์เน็ต 5G ที่ครอบคลุม และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ประกอบกับชาวไทยมีการใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจำนวนมาก รวมถึงการชำระเงินทางโทรศัพท์กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ซึ่งเหล่านี้เป็นรากบานที่แข็งแกร่งที่จะผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค ความสำเร็จของโครงการเหล่านี้สามารถทำให้ไทยกลายเป็นประตูสู่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกของฝรั่งเศส
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่าฝรั่งเศสจะสนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – สหภาพยุโรป ซึ่งเมื่อลงนามแล้วเสร็จ คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการส่งออกจากสหภาพยุโรปมายังไทยกว่าร้อยละ 40 และเพิ่มปริมาณการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปมากกว่าร้อยละ 25 โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุการเจรจา FTA ดังกล่าว
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก และเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล โดยรัฐบาลมีเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) ผ่านการมี Roadmap ที่สมบูรณ์เพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 50 ของการผลิต ภายในปี ค.ศ. 2040 และในวันนี้ ภาคเอกชนด้านเกษตรและอาหารของไทยจะลงนาม MoU ด้าน sustainable mobility ร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศส โดยไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ไทยยังพิจารณาใช้ Green Hydrogen และ Small Module Reactor (SMR) เป็นเครื่องมือทำให้การผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับหน่วยงานด้านพลังงานสะอาดของฝรั่งเศส Electricite de France (EDF) เมื่อการเยือนอย่างเป็นทางการด้วย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมหลังงานThailand – France Business Forum ว่าได้มีการพูดคุยถึงความคืบหน้าทั้งในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ การจัดทำ FTA ไทย – สหภาพยุโรป ซึ่งมีความซับซ้อน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าควรแยกทำ FTA บางส่วนไปก่อน เพื่อให้มีความก้าวหน้า อาทิ EV เป็นต้น
โดยงาน Thailand – France Business Forum ได้มีการลงนามในความตกลงร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน เช่น การผลิตเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดแบบยั่งยืน (sustainable aviation fuel: SAF) ซึ่งถือเป็นเรื่องสําคัญที่มีการพูดคุยกันในหลายวงที่จะมีการยกระดับความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ โดยงานดังกล่าวมีภาคธุรกิจรายใหญ่ในหลายสาขาสำคัญเข้าร่วมจำนวนมาก ถือว่าได้ประโยชน์อย่างมากสําหรับการมาเยือนเพียงครึ่งวัน
ในการลงนามในความตกลงด้านกลาโหม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งทางฝรั่งเศสมีข้อเสนอให้ไทยในหลายส่วน ทั้งเครื่องบิน รถถัง โดรน และความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งพลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้มาร่วมพูดคุย โดยในภาพใหญ่มีการวางแผนพัฒนากองทัพ ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งได้มีการพูดคุยว่าฝรั่งเศสสามารถช่วยพัฒนากองทัพไทยได้ในส่วนไหนบ้าง รวมถึงในเรื่องการซ้อมรบ
ในเรื่องของพลังงานสะอาดนั้น ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญ และมีพลังงานสะอาดใช้จำนวนมาก ซึ่งไทยอยากให้ฝรั่งเศสเป็นแม่แบบในการพัฒนาแบบแผนพลังงานของไทย ซึ่งจะพูดคุยกันอีกครั้ง ในการประชุม Thailand – France Business Forum ครั้งต่อไป ในเดือนกันยายน ที่ประเทศไทย ทางฝรั่งเศสจะนำหน่วยงานด้านพลังงานสะอาดที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงด้านพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งฝรั่งเศสสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย ราคาถูก และสะอาด
“ในระยะเวลาสั้นๆ เพียงครึ่งวัน ได้พูดคุยกับประธานาธิบดีมาครง 3 – 4 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นการพูดคุยที่ได้ประโยชน์อย่างมาก นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนี้งาน Thailand – France Business Forum ยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอีกด้วย ถือว่าเป็นการใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า และเป็นการจบภารกิจที่ฝรั่งเศสอย่างสวยงาม” นายกฯ กล่าว