นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ดำเนินกลยุทธ์ดิจิทัลแบงก์ วิท ฮิวแมน ทัช (Digital Bank with Human Touch) โดยมีเป้าหมายการเป็นดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทางให้กับลูกค้า โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 ธนาคารยังคงมีผลประกอบการที่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในทุกด้าน
โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 1.32 หมื่นล้านบาท เติบโต 13.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-Nii) เพิ่มขึ้น 3.1% ขณะที่รักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (C/I) อยู่ที่ 37.7% มีผลตอบแทนสำหรับผู้ถือหุ้น (ROE) ในระดับ 12.7% และธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 8.6 หมื่นล้านบาท ในปี 2566-ไตรมาส 1/2567 ตั้งเป้า 3 ปี จะปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 1.5 แสนล้านบาท อีกทั้งจะพัฒนาเพื่อเป็นดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบ การบริหารความมั่งคั่ง
ขณะเดียวกัน ธนาคารสร้างรายได้ดิจิทัลขยายตัวมากขึ้น โดยไตรมาส 1/2567 ขยายตัว 9.9% จึงตั้งเป้าปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวถึง 13-15% และสู่เป้าหมาย 25% ในปี 2568 สะท้อนจากปัจจุบันลูกค้าดิจิทัลใช้บริการผ่านแอพพ์ SCB EASY มีจำนวนลูกค้าเกือบ 18 ล้านราย โดยเฉลี่ย 84% มีการใช้ธุรกรรมขยายตัว 23% ซึ่งมีการเติบโตจากยอดขายกรมธรรม์ประกันภัยเพิ่มขึ้น 5 เท่า และจำนวนครั้งของการลงทุนบนช่องทางดิจิทัลสูงกว่าช่องเพิ่มขึ้น 7 เท่า ดังนั้น ด้านกลยุทธ์ธนาคารจะผลักดันด้านดิจิทัลมากขึ้น จึงให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาขับเคลื่อนธุรกิจในทุกมิติ โดยได้กำหนดการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ภายใต้โมเดลเบทเทอะ เบรน (Better Brain) นำเทคโนโลยีเอไอและแมชชีนเลิร์นนิ่งมาพัฒนาใช้งานวางรากฐานบริการโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคาร และมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า
จากการดำเนินงานดังกล่าว ธนาคารได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนา 3 นวัตกรรม เอไอ ที่พร้อมมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์เป็นครั้งแรก ประกอบด้วย การนำเอไออนุมัติสินเชื่อรายย่อย 100% ครอบคลุมสินเชื่อเคหะ สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย (SSME) โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทราบผลอนุมัติภายในระยะที่รวดเร็วกว่าเดิมมาก
สำหรับการอนุมัติสินเชื่อโดยที่ไม่ได้ใช้เอกสารรายได้นั้น ด้านกระบวนการเนื่องจากกลุ่มลูกค้ามีการเดินบัญชีกับธนาคารอยู่แล้ว จึงมีข้อมูลในการเดินบัญชีและข้อมูลเงินฝากของลูกค้าที่นำมาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อลดขั้นตอนการทำเอกสาร ขณะเดียวกัน การนำเอไอมาใช้พิจารณาสินเชื่อคาดหวังว่าจะช่วยลดหนี้เสีย เนื่องจากการทำงานของเอไอช่วยให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน
“นอกจากนี้ การใช้เอไอและแมชชีนเลิร์นนิ่งในการประเมินความเสี่ยงลูกค้าจากข้อมูลเชิงลึกช่วยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้กับลูกค้าจะนำไปสู่การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ อีกทั้งได้นำเอไอมาบริหารด้านการลงทุน โดยที่มีบริการ AI Advisory Chatbot บนช่องทาง SCB Connect เป็นแชตบอตที่สามารถโต้ตอบและให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนได้” นายกฤษณ์กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่าเอไอจะเป็นเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ (New S-Curve) และนำธนาคารไปสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบได้ตามเป้าหมาย และการยกระดับความสามารถทางด้านดิจิทัลในครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างสมดุลให้แก่โครงสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนต่างๆ