ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่าจากดอลลาร์แข็งค่า เฟดย้ำไม่รีบลดดอกเบี้ยกดดันโฟลว์ทองคำ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 36.14 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.05-36.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.02-36.16 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจในแนวโน้มการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.45% อีกครั้ง นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯก กับญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น ก็ยิ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงสู่ระดับ 156.40 เยนต่อดอลลาร์ และเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้

ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำเผชิญแรงขาย และย่อตัวลงราว -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง และการพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทตั้งแต่ช่วงบ่ายวันก่อนหน้า (ในเชิงเทคนิคัล อาจเกิดสัญญาณ RSI Bullish Divergence บน Time Frame m15, H1 และ H4) ทำให้มั่นใจว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาแกว่งตัว sideways แถวโซน 36.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ หรืออย่างน้อย การแข็งค่าหลุด 36 บาทต่อดอลลาร์

อีกครั้ง อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าในสัปดาห์นี้ก็ยังมีอยู่ ทั้ง โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงซื้อ เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องหลุดระดับ 23 บาท/100 เยน (เรายังคงแนะนำให้ Buy on Dip JPYTHB เช่นเดิม โดยยังคงมองเป้า ณ สิ้นปีนี้ ที่ 24-24.10 บาท/100 เยน) และอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา คือ ทิศทางราคาทองคำ ซึ่งอาจเริ่มเข้าสู่ช่วงการปรับฐาน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ทำให้ในช่วงที่ราคาทองคำย่อตัวลง ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งล่าสุดได้ทยอยเข้าซื้อบอนด์ไทยเพิ่มเติม เยอะกว่าที่เราประเมินไว้ และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลงได้บ้าง 

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่า หากแนวโน้มเงินบาทยังอยู่ในช่วง sideways การแข็งค่าหลุดโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันนั้น แม้จะทำให้ในระยะสั้นเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น แต่จะเป็นโอกาสในการ Buy on Dip ที่ดี เพราะหลังจากนั้น เงินบาทมักจะรีบาวด์อ่อนค่าลงกลับไปทดสอบโซนแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันได้ (และบ่อยครั้งจะมีการอ่อนค่าเหนือระดับเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันได้ราว 15-20 สตางค์) ซึ่งต้องจับตาแนวต้านแรกระยะสั้นจะอยู่แถว 36.35 บาทต่อดอลลาร์ เพราะหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ชัดเจน ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าลงกลับไปทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ 

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles