คมนาคม จ่อชงโครงการท่าเรือสำราญเกาะสมุยเข้า ครม.ในไตรมาส 3 ปีนี้ ดึงเอกชนลงทุน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคม เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณแหลมหินคม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ขณะนี้กรมเจ้าท่าได้ส่งรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) มาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาตรวจสอบรายละเอียด จากนั้นจะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยจะเร่งรัดให้เสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ก..-..67 เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ

โดยตามขั้นตอน หลังได้ตัวผู้ร่วมทุนฯ จะต้องรับผิดชอบในการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) คู่ขนานไปด้วย ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง โดยได้หารือกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้เบื้องต้นแล้ว คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาให้เกิดความล่าช้า คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 2572 ใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี ซึ่งจะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2574 ไม่เกินปี 2575

ทั้งนี้ จากการเปิดมาร์เก็ตซาวด์ดิ้งฟังเสียงนักลงทุนภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น มีนักลงทุนสนใจอย่างน้อย 3 ราย เป็นเอกชนในประเทศ 2 ราย คือ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานสมุย ส่วนอีกรายเป็นกลุ่มนักธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตและเกาะสมุย ส่วนต่างชาติเป็นผู้ประกอบการสายเดินเรือจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเอกชนสนใจขอดูผลการศึกษาหลังได้ขอสรุปผลการศึกษาเรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มนักธุรกิจผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตและเกาะสมุยนั้นได้มีการลงพื้นที่จริงเบื้องต้นแล้ว

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสมุย บริเวณแหลมหินคม ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่มากที่สุด มีพื้นที่รวม 47 ไร่ ประกอบดด้วย 1.พื้นที่บนชายฝั่งขนาด 15 ไร่ เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งได้เจรจากรมป่าไม้ยินยอมให้ใช้พื้นที่แล้ว และเป็นที่ดินของเอกชนประมาณ 5 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้อาจเป็นการเวนคืน หรือเจรจาให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนของ PPP ในการลงทุนโครงการก็ได้ หากเวนคืนทางผู้รับ PPP จะต้องจ่ายชดเชย และ 2.พื้นที่นอกชายฝั่งขนาด 32 ไร่ โดยจะสร้างสะพานขึงลงไปในทะเล เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว อาคารจำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านอาหาร และอาคารบริการ (บริเวณหลังท่าเรือ)

โครงการมีมูลค่าการลงทุน ค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาโครงการรวม 12,172 ล้านบาท โดยมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร พื้นที่อย่างน้อย 7,200 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง ส่วนท่าเรือสำราญจะสามารถรองรับเรือสำราญได้พร้อมกัน 2 ลำ ได้แก่ เรือสำราญขนาดใหญ่ 4,000 คน เรือสำราญขนาดกลาง 2,500 คน และรองรับเรือยอชต์สูงสุด 80 ลำ เรือเฟอร์รีสูงสุด 6 ลำ อาคารผู้โดยสารบรรจุ 3,600 คน สามารถรองรับนักท่องเที่ยว 180,000 คนต่อปี รองรับเรือ Cruise 120 เที่ยวเรือต่อปี และนักท่องเที่ยวใช้จ่าย 5,000 บาทต่อคน รวมรายได้จากการคาดการณ์รายได้ของโครงการตลอดระยะเวลาโครงการมีมูลค่า 8,500 ล้านบาท

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles