นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานเรื่องมุมมองการยื่นและเสีย ภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย พบว่า ทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ สาเหตุจากระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษีเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไปไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาความเต็มใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีของคนไทย พบว่า ประมาณ 70% ของกลุ่มตัวอย่างเต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษีหากมีรายได้ถึงเกณฑ์หรือหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น/มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ากว่า 33% หรือ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบฯ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ
สำหรับปัจจัยที่จูงใจให้คนไทยยื่นแบบฯ พบว่า กลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ อยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ตาม ต้องการให้ไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง และไม่ขอเอกสาร/หลักฐานเพิ่มเติม
ด้านปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษี คือ การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการของรัฐมากกว่า ซึ่งปัจจัยที่มีผลในการจูงใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่ามีหลายประเด็นที่สามารถปรับปรุงหรือพัฒนาเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมการยื่นแบบฯ และชำระภาษีของผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ จะพบว่า หลายประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ตั้งแต่ในวัยเด็ก รวมถึงมีการสร้างแรงจูงใจให้คนอยากยื่นแบบฯ และเสียภาษีผ่านการให้รางวัลกับผู้เสียภาษีที่ดี รวมทั้งมีการให้สิทธิประโยชน์ที่นอกเหนือจากสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทางภาษีต่าง ๆ อีกทั้ง ยังมีการอภัยโทษทางภาษีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลุดออกจากระบบภาษีได้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการคลังของรัฐ