นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีแบงก์ชาติเตือนรัฐบาล หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้จะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% และอาจไม่มีช่องในการรับมือหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในอนาคต โดยนายพิชัยระบุว่า เป็นคำเตือนที่ดี เพราะในช่วงวิกฤต แปลว่า เราต้องมีความเพียงพอของฐานะเงินในคงคลัง
แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย เงินคงคลังก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทียบกับทำแล้วเศรษฐกิจเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นคำเตือนที่ดี พร้อมรับไปดูอย่างละเอียด เพราะในแง่ของเงินคงคลังแล้ว ต้องนึกถึงเสถียรภาพไปด้วย และไม่ได้กังวลผลกระทบต่อระดับหนี้สาธารณะว่าจะชนกรอบเพดาน 70% เพราะระดับหนี้ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในกรอบ 4-5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ การประชุม ครม. วันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบปรับแผนการคลังระยะปานกลาง โดยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 โดยมีสาระสำคัญเป็นการเตรียมความพร้อมแหล่งเงินสำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายรัฐบาลนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เสนอให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบความเห็นบรรจุเข้าวาระ ครม. มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
ธปท. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 2/2567
แต่รัฐบาลควรพิจารณาถึงผลของการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณต่อเสถียรภาพการคลัง และจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะหนี้สาธารณะ และภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐ-เอกชน
นอกจากนี้ พื้นที่ทางการคลัง (policy space) ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอาจลดลงจากรายได้ของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงไม่เป็นไปตามเป้า และรายจ่ายรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะเงินคงคลังและการบริหารกระแสเงินสดของรัฐบาลในระยะต่อไปได้
ทั้งนี้ในระยะต่อไป การดำเนินนโยบายด้านการคลัง จึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเสถียรภาพการคลัง ผ่านการลดการขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรม และใช้นโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้เท่าที่จำเป็น
นอกจากนี้ ควรพิจารณาเพิ่มการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย เพื่อรักษาพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า และดำเนินนโยบายการคลังที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย