นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท วันนี้ เปิดที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และประเมินกรอบ 36.50-36.95 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.67- 36.82 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานคาดการณ์ครั้งที่ 2 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกในปีนี้ ออกมา +1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ครั้งแรกที่ขยายตัว +1.6%
นอกจากนี้ คาดการณ์ครั้งที่ 2 ของดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ก็ออกมา+3.0% ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งแรกเล็กน้อยที่ +3.1% ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดบ้าง ดังจะเห็นได้จากโอกาสในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งของเฟดในปีนี้จาก CME FedWatch Tool ขยับขึ้นเป็น 36% จากไม่ถึง 25% ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ข้อมูลดังกล่าว
การปรับตัวลดลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทจะแผ่วลงบ้าง หลังเงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ แต่ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังมีอยู่ โดยในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับ รายงานดัชนี PMI ของจีน และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และเงินยูโร (EUR) ได้บ้าง โดยต้องระวังในกรณีที่ข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด (หรือชะลอลงกว่าคาดในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามเงินหยวนและเงินยูโรได้
นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง ก่อนที่จะเลือกทิศทางที่ชัดเจนขึ้น หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ
โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ออกมาตามคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท แต่หากออกมาต่ำกว่าคาด สะท้อนถึงการชะลอลงของเงินเฟ้อที่มากขึ้น ก็อาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ราว -0.13% แต่ในทางกลับกัน หากออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว +0.11% เป็นอย่างน้อย (%การอ่อนค่า หรือ แข็งค่านั้น มาจากค่าเฉลี่ยการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์หลังการรับรู้ข้อมูลดังกล่าวในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา)