เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เชลล์ ประเทศไทย เจ้าของปั้มน้ำมันเชลล์ ปรับราคาขึ้นน้ำมันดีเซลขายปลีกเกรดพรีเมี่ยมที่เรียกว่า วีพาวเวอร์-ดีเซล แตะลิตรละ 50.24 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 2 ครั้งติดต่อกันรวม 1.50 บาท/ลิตร โดยตั้งแต่วันที่ 29 ปรับขึ้น 1 บาท/ลิตร และวันที่ 30 ปรับขึ้น 50 สตางค์/ลิตร ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลเกรดดังกล่าวมีราคาถึง 2 ลิตรกว่า 100 บาท ที่สำคัญ เป็นราคาน้ำมันดีเซลวีพาวเวอร์ที่สูงสุดในรอบ 1 ปี 10 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2565
สอดรับกับราคาน้ำมันดีเซลของเชลล์เกรดธรรมดาที่เรียกว่า ดีเซลฟิวเซฟ มีราคาสูงสุดถึงลิตรละ 33.64 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 2 ครั้งติดต่อกันรวม 0.60 บาท/ลิตร โดยตั้งแต่วันที่ 29 ปรับขึ้น 0.30 บาท/ลิตร และวันที่ 30 ปรับขึ้น 0.30 บาท/ลิตร ส่งผลเป็นราคาน้ำมันดีเซลฟิวเซฟ ที่สูงสุดในรอบ 1 ปี หรือนับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2566
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน ต่อเนื่องจากสถานการณ์ด้านสงครามและเศรษฐกิจ ประกอบกับ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงชดเชยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซลอยู่ เพื่อให้สะท้อนราคาน้ำมันที่เหมาะสม และรักษาสภาพคล่อง ให้สามารถบริหารจัดการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตทั้งด้านการเงินและสถานการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง จึงตรึงอัตรา เงินชดเชยประเภทน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ไว้ที่ 1.40 บาท/ลิตร เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายประเภท น้ำมันดีเซลประมาณวันละ 96.29 ล้านบาท
การตรึงอัตราเงินกองทุนน้ำมัน ประเภทดีเซลในครั้งนี้ส่งผลให้ราคาขายปลีกประเภทน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.50 บาท/ลิตร เป็น 32.94 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ที่มีมาตรการ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน โดยวางกรอบการตรึงราคา น้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่สิ้นสุดเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และการดำเนินการนี้เป็นไปตามมติ กบน. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 เห็นชอบในหลักการให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกเกินกว่า 30 บาทได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2567 ติดลบ 111,345 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,655 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,690 ล้านบาท