คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มโตได้เพียง 2.2-2.7% โดยเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/67 โต 1.5% ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนจากการหดตัวของการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ
ขณะที่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัด เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้ช้าตามการค้าโลกที่ชะลอตัว และ ปัญหาเอลนีโญ (ฝนแล้ง) ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ส่วนการใช้จ่ายของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนใน ระดับสูง
ขณะที่มองว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษี รอบล่าสุดของสหรัฐฯต่อสินค้ากลุ่มรถยนต์ EV โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น โดยมีกำหนดบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบ เพิ่มเติมต่อการค้าโลก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ถูกสหรัฐฯมองว่าจีนใช้เป็นฐานการผลิต
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร.ยังได้มีการหารือและเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ทั้ง มาตรการเพิ่มการท่องเที่ยวช่วง Low-season ที่เชื่อว่าจะช่วยกระจายรายได้ไปทั่วประเทศ รวมถึงการเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ที่เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น จะ ส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภค และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ กกร. พร้อมเข้าไปมีส่วนช่วยคัดกรองและรับรอง SMEs ที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมกกร. ได้เสนอให้ภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติมในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs รวมถึงมาตรการ สนับสนุนให้ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลา ปรับตัวและเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น
ขณะเดียวกัน กกร.อยู่ระหว่างหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) และดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ตามข้อเสนอของภาคเอกชนในประเด็นที่ได้นำเสนอรัฐบาลไปแล้วก่อนหน้า นี้ โดยแต่ละพื้นที่จะประสานผ่าน กกร.จังหวัดให้มีการหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อภาคการส่งออกสินค้าที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มี แนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ ทำให้จีนต้องหาตลาดใหม่ทดแทนเพื่อส่งออก สินค้า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการส่งออกยังมีปัจจัยกดดันจากต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทันเนื่อง จากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออก และส่งเสริม สินค้าที่มีศักยภาพ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของประเทศ