รัฐเสี่ยงหาเงินไม่ทันค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงวัย เบี้ยยังชีพอย่างเดียวจ่อพุ่งกว่า 1 เท่า ใน 5 ปีหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สังคมสูงวัยจะเพิ่มภาระทางการคลังทั้งด้านรายรับและรายจ่ายของรัฐ จากโครงสร้างสังคมสูงวัยของไทยอาจทำให้สถานภาพทางการคลังของรัฐเผชิญความเสี่ยงทั้งด้านรายรับจากการเก็บภาษีได้น้อยลงตามประชากรวัยแรงงานที่ลดลงในระยะข้างหน้า สวนทางกับรายจ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับ ผู้สูงวัย ทั้งเงินที่ต้องจ่ายให้หลังเกษียณ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ สะท้อนจากงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐด้านสวัสดิการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นโตยเฉลี่ย 6% ต่อปี (CAGR 2014-2024)

สังคมสูงวัยจะกระทบต่อภาระทางการคลังของภาครัฐในระยะข้างหน้า ดังนี้ รายจ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรสูงวัยและอัตราการจ่ายเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐมีการปรับรูปแบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพมากขึ้น โดยการยกเลิกการจ่ายแบบขั้นบันไดมาเป็นจ่าย 1,000 บาทเท่ากันทุกช่วงวัย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ และอยู่ระหว่างรอเสนอครม.เพื่อพิจารณา ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคาดว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากในปี 2024 ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ราว 9.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2029 ที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด รายจ่ายส่วนนี้อาจไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท

รายจ่ายสวัสดิการด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% (CAGR 2014-2024) ซึ่งปี 2014 งบประมาณส่วนนี้ของรัฐอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ในปี 2024 โดยส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่ราว 2.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 62% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกตามการดูแลรักษาพยาบาลที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย อีกทั้ง ปัจจุบันประชาชนยังสามารถยื่นใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาลได้ทุกที่ทั่วประเทศ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 และโรคอุบัติใหม่ ก็อาจทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น

กองทุนประกันสังคมที่เป็นสวัสดิการหลักของแรงงานไทยราว 25 ล้านคน อาจไม่เพียงพอ และหมดลงในระยะข้างหน้าหากไม่มีการปรับเงื่อนไข เนื่องจากรายได้ที่เก็บจากกลุ่มคนวัยทำงานในระบบประกันสังคมไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับรายจ่ายรวมของกองทุนประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเงินที่จ่ายหลังเกษียณและสวัสดิการด้านสุขภาพต่างๆ สะท้อนจากในช่วงปี 2014-2023 รายจ่ายรวมขยายตัวเฉลี่ย 10% ต่อปี ขณะที่ รายรับรวมขยายตัวเฉลี่ยเพียงแค่ 3% ต่อปีเท่านั้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles