กรมประมงแจงราคากุ้งในประเทศตกต่ำลง ไม่ได้เกิดจากกุ้งนำเข้า และยังไม่พบการลักลอบหนีภาษีเข้าไทย

กรมประมงแจง ราคากุ้ง ในประเทศตกต่ำลง ไม่ได้เกิดจากกุ้งนำเข้า และยังไม่พบการลักลอบหนีภาษีเข้าไทย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ประธานกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด (Shrimp Board) เปิดเผยว่า จากกรณีเกษตรกรแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการร์ราคากุ้งในประเทศขณะนี้ ว่าราคาที่ปรับตัวลงอาจมีผลมาจากการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ และการลักลอบนำเข้าหรือไม่นั้น กรมประมงยืนยันว่ายังไม่พบการลักลอบนำเข้ากุ้ง ที่จะส่งผลกระทบทำให้ราคากุ้งภายในประเทศลดต่ำลงตามข้อห่วงกังวลของพี่น้องเกษตรกร

โดยวัฏจักรราคากุ้งในประเทศไทยพบว่ามีช่วงที่ราคาตก 2 ช่วง ในรอบปี คือ ช่วงเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม และเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคากุ้งในตลาดโลก และกลไกตลาดตามหลักการอุปสงค์ – อุปทาน เมื่อตลาดโลกมีความต้องการสูงราคาจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อผลผลิตมีมากเกินความต้องการราคากุ้งก็จะต่ำลง และยังคงพบว่าราคาในปีนี้เริ่มลดลงในเดือนเมษายนเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ราคากุ้งภายในประเทศยังมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้ง แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน คือ รูปแบบและช่องทางการจำหน่ายผลผลิตกุ้งของเกษตรกร โดยภาคตะวันออกและภาคกลาง มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตกุ้งทะเล 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ ตลาดภายในประเทศ (ตลาดหลัก) และตลาดต่างประเทศ (จำหน่ายเข้าห้องเย็นและโรงงานแปรรูป) โดยตลาดภายในประเทศมีการกระจายสินค้าไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ได้แก่ ลาว และกัมพูชา

ขณะเดียวกัน ผลผลิตกุ้งที่มีคุณภาพยังนิยมจำหน่ายเป็นกุ้งมีชีวิตเพื่อส่งไปคัดขนาดก่อนกระจายไปยังตลาดภายในประเทศ และบางส่วนส่งเข้าโรงงานแปรรูป ทำให้กุ้งมีราคาค่อนข้างสูง แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ซึ่งมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตหลัก คือ การส่งออกกุ้งแช่เย็นไปยังประเทศมาเลเซีย โดยอาจผ่านผู้รวบรวม (แพ) หลายทอด ทำให้ราคารับซื้อกุ้งจากเกษตรกรค่อนข้างต่ำ ประกอบกับประเทศมาเลเซียมีการนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดียที่มีราคาต่ำจึงใช้เป็นราคาอ้างอิงในการรับซื้อกุ้งจากประเทศไทย

จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำที่กล่าวมาข้างต้น เกษตรกรยังประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยง ที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง รวมถึงผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงให้เกษตรกรผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) ซึ่งกรมประมงได้แนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงแบบไม่มีแปรงถ่าน (Brushless D.C. Motor) ร่วมกับการใช้ Solar cell , การส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ,การใช้อาหารกุ้งที่มีระดับโปรตีนเหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งกรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรเลือกใช้อาหารที่มีโปรตีนในระดับที่เหมาะสมกับสายพันธุ์และระยะของกุ้งทะเล เพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร รวมถึงค่าจัดการควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสม เป็นต้น

สำหรับการนำเข้าสินค้ากุ้ง ปี 2567 (เดือนมกราคม – เดือนเมษายน) ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์กุ้งทะเล (ไม่รวม ล็อบสเตอร์) 5,440.42 ตัน มูลค่า 788.49 ล้านบาท ซึ่งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าฯ ลดลงร้อยละ 51.65 และ 66.46 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เมื่อจำแนกชนิดกุ้งพบว่าเป็น กุ้งขาวแวนนาไมเพียง 389.58 ตัน (ร้อยละ 7.16) กุ้งกุลาดำ 2.24 ตัน (ร้อยละ 0.04) และกุ้งอื่นๆ 5,048.61 ตัน (ร้อยละ 92.80) ซึ่งรวมชนิดกุ้งที่จับจากธรรมชาติ โดยนำเข้ากุ้งทะเลจากอาร์เจนตินามากที่สุดถึงร้อยละ 46.08 ของมูลค่าการนำเข้ากุ้งทะเลทั้งหมดและเป็นกุ้งที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในประเทศไทย

นอกจากนี้ กรมประมงมีมาตรการควบคุมการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศ ก่อนการอนุญาตให้นำกุ้งทะเลเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าจะต้องเข้าสู่ระบบการกักกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงดำเนินการสุ่มตรวจเชื้อก่อโรคกุ้งทะเลที่สำคัญตามบัญชีรายชื่อขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (World organization for Animal Health: WOAH) โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ ได้แก่ โรคไอเอ็มเอ็น (IMN) โรคเอ็นเอชพี (NHP) และโรคดีไอวี วัน (DIV 1) รวมทั้งมีการสุ่มตรวจสารตกค้าง

อย่างไรก็ตาม การประกาศงดการออกหนังสืออนุญาตนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศ ต้องเป็นมาตรการที่ดำเนินการในกรณีฉุกเฉินซึ่งเป็นกุ้งที่ได้จากการทำการประมงและมีเหตุอันควรที่ใช้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะประเทศไทยและประเทศผู้ผลิตกุ้งทะเลเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ต้องปฏิบัติตามความตกลงภายใต้ WTO โดยมาตรการที่ใช้ในการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร หรือมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารต้องกำหนดระดับความปลอดภัยและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าที่ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า หรือข้อกีดกันทางการค้าของประเทศสมาชิก ดังนั้น ทำให้ประเทศไทยและประเทศสมาชิกไม่สามารถกำหนดมาตรการการห้ามนำเข้าได้อย่างถาวร

และปัจจุบันได้มีการยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ภายใต้การดำเนินการของกรมประมง และขอความร่วมมือไปยังจังหวัดชายแดนเพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำด้วย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles