ในระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่ว่าจะเป็นชาติไหนก็ตาม การท่องเที่ยวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการกระตุ้นรายได้ ยิ่งถ้าประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ ยิ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกได้เป็นอย่างดี
ถ้าจะให้นึกถึงประเทศในแถบเอเชียที่นักท่องเที่ยวปักหมุดไว้อันดับต้นๆ ก็คงหนีไม่พ้น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น เพราะนอกจากจะอากาศดี อาหารอร่อย ก็ยังเดินทางสะดวก นั่งเครื่องไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง จึงเป็นประเทศยอดฮิตของคนไทย ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยก็เป็นแชมป์นักเดินทางต่างชาติของหลายประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศเกาหลีใต้ (Korea Tourism Organization) หรือเคทีโอ ระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 นักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนใน 3 อันดับแรกที่เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ พบว่า อันดับ 1 ตกเป็นของเวียดนาม 163,000 คน เพิ่มขึ้น +29% อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 158,000 คน เพิ่มขึ้น +76% ส่วนไทยตกอยู่ที่อันดับ 3 ที่ 119,000 คน ลดลง -21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา ซึ่งในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้าเกาหลีใต้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวมที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้เพิ่มสูงมากขึ้นถึง +86.9%
สาเหตุที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยลดต่ำลงมาก และฟื้นตัวช้ากว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ ก็มาจากความรู้สึกด้านลบต่อการมาเที่ยวในเกาหลีใต้ ก็พวกโอปป้า ออนนี่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของเกาหลีให้ผ่านกันยากซะเหลือเกิน ทั้งสกรีน สแกนเข้มข้น และมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากการสกรีนเข้มแล้ว ยังพบข้อมูลด้วยว่า ประเทศเกาหลีใต้ได้มีระบบกรอกข้อมูลใน K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) บนแอปพลิเคชันสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะมีทั้งหมด 112 ประเทศ ที่ในจำนวนนี้จะมีนักท่องเที่ยว 22 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับยกเว้นทั้งวีซ่าและการกรอก K-ETA เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ในขณะที่ไทย ก็ไม่ได้อยู่ใน 22 ประเทศดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน
แต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างของ ตม.เกาหลีนั้น เลื่องชื่อลือชา เพราะถึงแม้นักท่องเที่ยวบางรายจะได้รับอนุมัติจากการกรอกข้อมูลบนแอปฯ K-ETA แล้ว แต่จะยังไม่สามารถผ่านเข้าประเทศเขาได้ง่ายๆ นะจ๊า เพราะถ้าตอบคำถามไม่ตรง ไม่ชัดเจนแบบในเอกสาร หรือสื่อสารไม่เข้าใจแม้แต่นิดเดียว ก็จะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ และส่งตัวกลับประเทศไทยทันที ทำให้ช่วงที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยจึงลดลงต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันยังมีการปฏิเสธของ K-ETA จำนวนมาก และการขาดคำอธิบายที่ชัดเจนสำหรับการปฏิเสธเหตุผล ได้กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนไทย จนเกิดเป็นประเด็นดรามาบนโซเชียลมีเดียจนเกิด, แบนเกาหลี, แบนเที่ยวเกาหลี วิพากษ์วิจารณ์และบอกเล่าถึงประสบการณ์ไม่ดีที่แต่ละคนเคยได้รับมาต่างๆ นานา ซึ่งบางส่วนบอกว่าการปฏิเสธอาจมีได้ ทั้งพูดภาษาเกาหลีไม่คล่อง พูดภาษาเกาหลีคล่องเกินไปจนน่าสงสัย ไม่สามารถแจกแจงได้ว่าแต่ละวันจะรับประทานอะไร หรือไม่รู้ค่ารถเข้าโรงแรม ซึ่งไม่คงที่หรือสมเหตุสมผล ประเด็นเหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวไทย มองว่า ตม. เกาหลีใต้ไม่มีมาตรฐานในการทำงาน ไม่มีหลักการในการตรวจสอบจริงๆ ว่าใครเป็นนักท่องเที่ยว และใครที่เป็นผู้ลักลอบเข้าไปทำงาน และเกิดจากการสุ่มมากกว่าการตรวจเอกสาร ซึ่งจากการพูดคุยแชร์ประสบการณ์กันในโลกออนไลน์ ทำให้คนเริ่มรณรงค์ไม่ให้คนเดินทางเข้าไปเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเป็นการประท้วงและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนเกิดเป็นแฮชแท็ก, แบนเกาหลี ขึ้นมา พร้อมให้เหตุผลว่าการท่องเที่ยวเกาหลีไม่คุ้มกับการเอาประวัติเดินทางเข้าไปเสี่ยง เพราะถ้าหากมีประวัติเคยถูกปฏิเสธเข้าเมืองที่หนึ่งแล้ว การขอวีซ่าหรือเดินทางเข้าเมืองอื่นๆ ทั่วโลกจะยุ่งยากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พี่ๆ ตม.กิมจิ เขาเข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะกับคนไทย สาเหตุก็เพราะการที่คนไทยเข้าเมืองและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของเกาหลีใต้ ด้วยการแอบลักลอบอยู่ในประเทศแบบเลยเวลาที่กำหนด จนในสุดท้ายกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายอันดับต้นๆ ของเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ผีน้อย” นั่นเอง
โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล เปิดเผยข้อมูลจำนวนคนไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้ในปี 2566 ที่ผ่านมา ล่าสุดรวมทั้งสิ้น 182,495 คน แบ่งเป็นเป็นคนไทยที่อยู่อย่างถูกกฎหมายจำนวน 42,538 คน คนไทยอยู่อย่างผิดกฎหมายมากถึง 139,245 คน
ทั้งนี้ เกาหลีใต้เองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ การลดลงของนักท่องเที่ยวไทยถือว่าสร้างแรงกระเพื่อมกับบ้านเขาไม่น้อย เพราะคนไทยเที่ยวเก่งไม่แพ้ชาติใด และยังเคยเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งจากอาเซียน, แบนเที่ยวเกาหลี จึงได้ผลดี จนทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้กังวลว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้อาจจะไม่ได้ 20 ล้านคนตามเป้าหมาย
ทำให้ในปี 2566– 2567 รัฐบาลไทยและรัฐบาลเกาหลีใต้ได้สร้างความร่วมมือเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยตั้งให้ปี 2566– 2567 เป็น “Korea-Thailand Mutual Visit Year” หรือปีแห่งการท่องเที่ยวไทย–เกาหลีใต้ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องรีบแก้ไขปัญหาและสร้างมาตรฐานใหม่ในการตรวจคนเข้าเมืองโดยด่วน โดยหวังว่าจะเรียกความมั่นใจของนักท่องเที่ยวไทยกลับมา
แต่ถึงอย่างไร ทางการของเกาหลีใต้ก็ยังคงยืนยันหนักแน่นว่ามาตรการเข้มงวดแบบนี้ยังจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มีแรงงานต่างชาติเข้ามาลักลอบทำงานในประเทศของเขาอยู่ดี
เอาเป็นว่าถ้าเที่ยวเกาหลียากไป หันมาไทยเที่ยวไทยก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะในไทยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอีกหลายที่ ต้องมีสักที่แหละที่เรายังไม่เคยไป แต่ในยุคนี้ ถ้าไม่มีเงินเหลือเก็บ อย่าว่าแต่เกาหลีเลย แค่ทะเลกรุงเทพฯ ก็น่าจะไปยากเหมือนกันนั่นล่ะ…