นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังงานเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ในหัวข้อ “ปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง (Unlocking The Growth Potential of Secondary Cities)” จัดโดยธนาคารโลก ว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงที่ปัญหานั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือ การกระจายเม็ดเงินให้ลงสู่ประชาชนให้เร็วที่สุด จะเห็นว่าได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ถือว่าน่าพึงพอใจ ทำได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่มีตัวเลขเกินเป้าหมาย
ขณะที่คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2567 ยังออกมาไม่ดีนั้น รัฐบาลก็มีความกังวล เพราะฉะนั้น กระทรวงต่างๆ รวมถึงกระทรวงการคลัง ก็พยายามออกมาตรการภาษี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในเมืองรอง ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ด้านออมสิน ก็มีมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน 1 แสนล้านบาท ถือเป็นวงเงินก้อนใหญ่ เพื่อให้สถาบันการเงินไปปล่อยสินเชื่อต่อ ซึ่งอยู่ระหว่างรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สัปดาห์หน้า พร้อมกับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น โดยมาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ เพื่อให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระหว่างรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะออกมาปลายปี 2567 นี้ แน่นอน ส่วนกลางขยายตัวเศรษฐกิจ หรือจีดีพีนั้นรัฐบาลพยายามเร่งให้ได้ 3% ต่อปี
ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นจะออกมาปลายปี 2567 นี้ คาดว่าจะมีผลเล็กน้อยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2567 แต่จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ทั้งมองว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับปีนี้ ดังนั้น ปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 รัฐบาลจะออกมาตรการเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนได้เยอะขึ้น มีการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นมาตรการเกี่ยวกับสินเชื่อ ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลใช้ต้นทุนน้อย แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญ และยังไม่ตรงจุด โดยเพราะไปไม่ถึงกลุ่มรายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้นรัฐบาลจึงทำให้ตรงกลุ่มมากขึ้น และกำลังยกระดับ บสย.ให้ออกมาตรการค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม ที่อยู่ระหว่างรอประกาศ
สำหรับกรณี ครม.เห็นชอบแผนปรับปรุงการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 ปีงบ 2567 ให้รัฐบาลก่อหนี้ใหม่อีก 2.75 แสนล้านนั้น เป็นหน้าที่ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัญหา และ สบน.ไม่มีความกังวลอะไรเกี่ยวกับหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นเลย อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงเรื่องหนี้ที่เพิ่มขี้นต้องคุยให้ชัด ที่ผ่านมาชอบพูดกันว่า งบประมาณรัฐบาลขาดดุลเยอะ สร้างหนี้สาธารณะเยอะ เปิดเผยกันตรงนี้เลยว่า นิยามของหนี้สาธารณะไทย ที่บอกว่ามี 64% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นการนับเกินคำนิยามสากล ตามที่ใช้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ใช้ ถ้าปรับคำนิยามให้ตรงกับไอเอ็มเอฟ หนี้สาธารณะปัจจุบันของไทยจะเหลือเพียง 57% ต่อจีดีพีเท่านั้น ซึ่งถือว่าไทยมีหนี้ต่ำมาก
“จริงๆ หน่วยงาน และสื่อต่างชาติ เข้าใจ เขาไม่ได้ดูหนี้สาธารณะไทยที่ตัวเลข 64% แต่ดูที่ 57% เพราะว่าเขาดูเชิงลึก หนี้สาธารณะที่ตรงตามคำนิยามสากลคือส่วนไหน และส่วนที่เกินมาคือ หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน ที่ต่างประเทศเขาไม่ได้นับ เพราะไม่ใช่ภาระของรัฐบาล”