รองศาสตราจารย์ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวโดยรวมของไทยในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี 2567 นี้ยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงมาก สะท้อนจาก ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวไตรมาส 2/2567 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา
การสำรวจพบว่าสถานภาพทางการเงินและหนี้ครัวเรือนของประชาชนทั่วไปด้วย โดยพบว่าประชาชน 58% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด โดยมีรายได้เทียบเท่ากับค่าใช้จ่าย และมีเงินเหลือเก็บเล็กน้อย 54% รายได้พอดีกับค่าใช้จ่าย 38% มีรายได้ไม่พอกับค่าจ่าย 6% และมีเงินเหลือเก็บมาก 2%
ขณะเดียวกัน ประชาชน 80% มีภาระหนี้สิน โดยมีภาระหนี้เฉลี่ยประมาณ 33% ของรายได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวลดลง โดยลดความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวให้น้อยลงในสัดส่วน 59% ส่วนที่ไม่แตกต่างจากเดิมคิดเป็นสัดส่วน 25% มีความถี่เหมือนเดิม แต่ลดค่าใช้จ่ายลงคิดเป็นสัดส่วน 18% และงดกิจกรรมท่องเที่ยวในสัดส่วน 4%
ภาวะหนี้ครัวเรือนที่กระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายท่องเที่ยวของคนไทย ยังส่งผลกระทบรายได้ของสถานประกอบการในไตรมาส 2 อยู่ที่ร้อยละ 48 ของช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจร้านขายของฝาก ของที่ระลึก และร้านค้าทั่วไปมีการฟื้นตัวของรายได้ช้ากว่าธุรกิจประเภทอื่น โดยรายได้หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน สะท้อนกำลังซื้อภายในประเทศที่กำลังหดตัว
ทั้งนี้ พบว่าค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างจังหวัดในไตรมาส 2/2567 ประมาณ 2,683 บาท/คน/ทริป ลดลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 6,856 บาท/คน/ทริป สะท้อนถึงกำลังซื้อที่หดตัวมากในไตรมาสนี้
โดยธุรกิจบริการขนส่งผู้โดยสาร บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจสปา สถานบันเทิง และแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ประเมินว่าไตรมาสนี้มีรายได้ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจที่พักแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝากของที่ระลึกประเมินว่ามีรายได้ลดลง