ธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ โดยสำนักวิจัยธุรกิจ เปิดเผยรายงานภาพรวมธุรกิจธุรกิจจำนำป้ายทะเบียนรถยนต์ในประเทศไทย พบว่าธุรกิจจำนำทะเบียนรถในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มีการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี ในภาพรวมมียอดคงค้างทั้งสิ้น 395,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.7% ประกอบด้วย ยอดสินเชื่อคงค้างในระบบธนาคารพาณิชย์ 90,465 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% ส่วนที่เหลือเป็นยอดสินเชื่อคงค้างในกลุ่มนอนแบงก์ หรือ Non-Bank จำนวน 304,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.4%
สาเหตุจากภาคเอกชนที่เผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ SME ที่เป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ และได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ในปัจจุบันแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยและระดับราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง
ในขณะเดียวกัน กลุ่มธนาคารพาณิชย์หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจจำนำทะเบียนรถมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสจากตลาดที่เติบโตดีต่อเนื่อง และมีผลตอบแทนสูงในช่วงที่ตลาดเช่าซื้อยานยนต์ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของกลุ่มนอนแบงก์ หรือ Non-Bank ยังคงเร่งขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนจากฐานสินเชื่อของผู้ประกอบการทุกรายที่ยังคงมีอัตราการขยายตัวสูง
ด้านธุรกิจเช่าซื้อยานยนต์ในภาพรวมของไทย พบว่า ปรับตัวชะลอลง เนื่องจากยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ที่ชะลอตัวลงทั้งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มนอนแบงก์ หรือ Non-Bank ทั้งหมดเป็นผลกระทบมาจากยอดจำหน่ายยานยนต์ภายในประเทศไทยที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง
ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า มียอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 260,2365 คัน ลดลง 23.8% สอดรับกับยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 739,988 คัน ลดลง 9.2% สาเหตุที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ตกต่ำอย่างมากเป็นผลมาจาก กำลังซื้อภายในประเทศที่ตกต่ำลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับการคืนรถจบหนี้ ที่ส่งผลให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับสัดส่วนเงินดาวน์และวัตถุประสงค์ในการกู้ซื้อรถมากยิ่งขึ้น
ด้านคุณภาพสินเชื่อในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 พบว่าในภาพรวม สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อทั้งในระบบธนาคารพาณิชย์และกลุ่มนอนแบงก์ หรือ Non-Bank ต่างมีทิศทางปรับตัวด้อยลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ขณะที่ยังคงมีสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยง
ด้านเครดิตสะสมอยู่ในเกณฑ์สูง โดยการปรับด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและความไม่แน่นอนทางการเมือง เมื่อรวมกับปัจจัยเปราะบางทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนปรับลดลงทั้งในส่วนของครัวเรือนและผู้ประกอบธุรกิจ
สำหรับแนวโน้มปี 2567-2568 ธุรกิจเช่าซื้อยานยนต์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามทิศทางการชะลอตัวของตลาดยานยนต์ภายในประเทศ โดยประมาณการณ์ว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงค่าครองชีพที่ถูกกดดันจากราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังคงมีความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ที่อาจปรับตัวด้อยลงได้