วันนี้ (8 กรกฎาคม 67) นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และ ผศ. ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมและการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมระหว่างกรมการค้าภายใน (คน.) กับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) โดยในการลงนามบันทึกข้อตกลงกับสำนักงาน กขค. มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประเด็น คือเพื่อบูรณาการและประสานการทำงาน ทั้งด้านการส่งเสริมและด้านการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพ และองค์ความรู้ทั้งในด้านการส่งเสริมและกำกับดูแลของทั้งสองฝ่าย รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ สำหรับสนับสนุนการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินค้าและบริการ และใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม
สำหรับเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบเกือบ 10 ราย อาทิ เจ้าของสินค้าส่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มรายหนึ่ง แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าหรือบางรายได้รับการชำระค่าสินค้าตามเวลาที่ได้ตกลงไว้ บางรายให้คืนสินค้าได้แต่สินค้าส่งคืนไม่ตรงกับของเดิม หรือลูกค้าได้รับสินค้าไม่ตรงปก (ตามที่ได้โฆษณาไว้) หรือการใช้ข้อมูลเฉพาะบุคคลหรือข้อมูลทางการค้ากับลูกค้ารายอื่น ทำให้เกิดการเสียเปรียบเชิงการค้า หรือการใช้เทคโนโลยีทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการร้องทั้งการค้าสินค้า และการให้บริการ เช่น การเรียกรถแท็กซี่ การจัดส่งสินค้า
“หลายเรื่องเป็นการยันกันด้วยสัญญาที่อาจทำให้เจ้าของสินค้าที่ไม่เข้าใจพอ อาจเสียเปรียบได้ ก็กำลังหารือกับหลายหน่วยงานขอความเห็นที่จะจัดทำแนวทางแนะนำสัญญาทางการค้าที่เป็นธรรม หรือสัญญามาตรฐานกลาง รวมถึงศึกษาจัดทำไกด์ไลน์เป็นคู่มือแนะนำผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยรายเล็กที่จะทำธุรกิจผลิตและรายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ที่กำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันผู้ค้ารายย่อยไม่ถูกเอาเปรียบด้วย” ผศ.ดร.วิษณุ กล่าว
ส่วนประเด็นรถอีวียี่ห้อหนึ่ง มีการให้ส่วนลดต่อเนื่องจนมีมูลค่าสูงนั้น ถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตรถยนต์อีวีหรือตัวแทนจำหน่ายรถอีวียี่ห้อรายใด มาร้องเรียนให้สำนักงาน กขค.เข้าตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กขค.ก็จะยังติดตามการทำการค้ารถอีวีต่อเนื่อง หากพบว่ามีอะไรที่อาจเข้าข่ายแข่งขันไม่เป็นธรรมและสร้างความเสียหายทั้งระบบ ก็ต้องเชิญมาชี้แจง โดยในเบื้องต้น ตามกฎหมายแข่งขัน จะพิจารณาว่าผิดในเรื่องขายต่ำกว่าทุนหรือดั้มราคาจนกระทบต่อระบบการค้า หรือมีพฤติกรรมบังคับซัพพลายเออร์หรือซัพพลายเชนลดราคาจนเกิดความเสียหายหรือไม่ เป็นต้น แต่จากที่ตรวจสอบรายที่เป็นข่าว ยังไม่ถือว่าจะเข้ามาพิจารณาในกฎหมายแข่งขัน และที่ร้องเรียนจะเป็นผู้บริโภคซี่งก็มีหน่วยงานดูแลผู้บริโภคโดยตรงอยู่แล้ว